ดาวโจนส์ปิดร่วง 546 จุด นักลงทุนเทขาย หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมดิ่ง

01 ต.ค. 2564 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 14:04 น.

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 33,843.92 จุด ลดลง 546.80 จุด นักลงทุนเทขายในหุ้นกลุ่มต่างๆ เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดิ่งลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,843.92 จุด ลดลง 546.80 จุด หรือ -1.59% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,307.54 จุด ลดลง 51.92 จุด หรือ -1.19% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,448.58 จุด ลดลง -63.86 จุด หรือ -0.44

ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีทำสถิติลดลงในเดือนก.ย. โดยได้รับปัจจัยลบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้

ความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

โดยความกังวลดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มต่างๆ เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดิ่งลงอย่างหนัก
          
ทั้งนี้ ตลอดเดือนก.ย. ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4.3%, ดัชนี S&P500 ร่วงลง 4.8% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 5.3% ส่งผลให้เดือนก.ย.2564 เป็นเดือนที่ Nasdaq ทำสถิติย่ำแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนตลอดทั้งไตรมาส 3/2564 นั้น ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง 1.9%, ดัชนี S&P500 ขยับขึ้น 0.2% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.4%

แม้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายระงับเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่นักลงทุนกังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกขัดขวางจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเตือนว่า สภาคองเกรสมีเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ในการพิจารณาเรื่องการขยายเพดานหนี้ โดยหากสภาคองเกรสล้มเหลวในการดำเนินการดังกล่าว ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดร่วงลงทั้งหมด นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมดิ่งลงหนักสุดถึง 2.11% 

หุ้นที่มีความอ่อนไหวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเช่นหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารร่วงลงเมื่อคืนนี้ 

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 6.6% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 1

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการจ้างงานในสหรัฐชะลอตัวลง

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน