ประกันอ่วม เคลม 1.2 หมื่นล้าน กรมธรรม์โควิดทะลุ 15 ล้าน

22 ก.ย. 2564 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 00:09 น.
3.7 k

นายกสมาคมประกันภัย ยันสิ้น ก.ย. จ่ายเคลมประกันโควิดครบ 1.2 หมื่นล้านบาท หลังสถานการณ์คลี่คลาย บริษัทเพิ่มคน เพิ่มระบบ รับยอดทะลักเกินคาด จากนั้นเป็นคิวเช็กบิลคนโกง หลังพบเอกสารปลอมทั้ง “หลักฐานส่วนบุคคล รายงานการตรวจ RT-CPR ใบรับรองแพทย์”

ความปั่นป่วนในแวดวงธุรกิจประกันภัยยังไม่จบ หลังผู้ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ได้รับเงินค่าเคลมล่าช้า ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) งัดกฎเหล็กออกมาขู่บริษัทประกันภัย ที่จ่ายประกันโควิดล่าช้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท แถมรายวันอีก ไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนขึ้น 

 

ล่าสุดเกิดกระแสข่าวการขาดสภาพคล่องอย่างหนักของบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง ถึงขั้นต้องเลิกจ้างพนักงาน และเตรียมที่จะยื่นขอเลิกกิจการต่อคปภ. จนคปภ.ต้องออกมาชี้แจงว่า ได้รับรายงานว่า เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายบริษัท ให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้ โดยยังคงพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้

 

บริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ถูกร้องเรียนจ่ายเคลมเงินประกันโควิดล่าช้า 4 แห่งคือ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)  บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)  บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK

ฐานะการเงิน 4 บริษัทประกันภัยที่จ่ายเคมประกันโควิดล่าช้า

สิ้นก.ย.จ่ายเคลมครบ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมประกันโควิดเฉพาะปี 2564 มีประมาณ 15 ล้านกรมธรรม์ มีเบี้ยรับที่ 5,950 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ น่าจะทยอยจ่ายเคลมสินไหมครบ 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะสถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว หลังจากบริษัทเพิ่มคน เพิ่มระบบ จากยอดเคลมที่ทะลักเกินกว่าคาดการณ์ ทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็กต้องให้เวลาสถานการณ์เหมือนช่วงเดือนสิงหาคมที่ผู้ป่วยไม่มีเตียง แต่หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาก็จะเข้าสู่ระบบการเคลมประกัน

ายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

 

ส่วนยอดคำขอเบิกเคลมสินไหมประกันโควิดแนวโน้มคงค่อยๆ คลี่คลาย ซึ่งต้องขอความเห็นใจ เพราะบริษัทต้องใช้เวลา ไม่ได้ทำเคลมอย่างเดียว มี 3 เรื่องต้องคำนึงถึงคือ 1.ปริมาณเคลมากขึ้น บริษัทต้องใช้เวลา2.เรื่องสภาพคล่อง และ 3.อัตราส่วนของ CAR Ratio 

 

นอกจากนั้นที่ผ่านมาหลายบริษัทเร่งพิจารณาจ่ายเคลมไปแล้ว แต่ตอนนี้เริ่มตรวจสอบเอกสาร เพราะเจอเอกสารปลอม ทั้งปลอมหลักฐานส่วนบุคคล หรือปลอมรายงานการตรวจ RT-CPR ใบรับรองแพทย์ ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ใช้ผลตรวจ ATK มาเคลม ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจ ไปเอาผลตรวจ ATK มาเคลมซึ่งใช้ไม่ได้ เพราะตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขไม่นับเป็นผู้ป่วย โดยผู้ป่วยต้องใช้ผลแล็ป RT-PCR กรณีเจอ จ่าย จบ ใช้เอกสาร 3 อย่างคือ RT-PCR เอกสารยืนยันตัวบุคคลและสมุดบัญชี

 

“แนวโน้มปริมาณเคลมค่อยๆคลี่คลาย หลายบริษัททยอยนัดเคลมและรับมือได้ไหว เรื่องสภาพคล่องอาจต้องแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสด เช่น ขายหุ้น ขายพันธบัตร เตรียมสภาพคล่องเพื่อให้จ่ายเคลมทัน  ส่วน CAR Ratio หากปรับลดลงทางคปภ.ผ่อนคลาย เพราะวิกฤตโควิดเป็นสถานการณ์เหลือวิสัย หากบริษัทไหนจะเพิ่มทุน คปภ.ก็ให้เสนอโครงการได้ แต่ยังไม่พบว่า บริษัทมีปัญหา” นายอานนท์กล่าว

ยันสภาพคล่องพอ

นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซียประกันภัย1950 จำกัด (มหาชน) หรือเดิมคือ บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งปรากฏในรายชื่อเลิกจ้างพนักงาน ออกมายืนยันว่า ได้จ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิดแล้วประมาณ 600 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของทั้งหมด และจะดูแลลูกค้าทุกกรมธรรม์ โดยยังไม่เลิกกิจการ

ายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซียประกันภัย1950 จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับฐานะทางการเงินของ เอเชียประกันภัย ณ เดือนสิงหาคม 2564 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน(Capital Adequacy Ratio:CAR) อยู่ที่ 140% ซึ่งสูงกว่ากฎหมายกำหนด จึงยืนยันว่า สามารถบริหารสภาพคล่องจ่ายสินไหมได้อย่างแน่นอน

 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่า สิ้นปี 2563 เอเชียประกันภัย มีกำไรสุทธิ 26.63 ล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้ นายเรืองเดชดุษฎีสุรพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัยระบุว่า บริษัทกังวลต่อผลในระยะยาว เพราะยอดเคลมประกันสินไหมที่เข้ามาในเดือนมิถุนายน 900 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้า 10,000 ฉบับ ซึ่งสูงกว่าเบี้ยรับประกันภัยที่มีเพียง 600 ล้านบาท และมียอดคงค้างกรมธรรม์ 2 in1 ประมาณ 2 ล้านฉบับ

 

นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เดอะวัน ประกันภัย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้ทยอยจ่ายค่าเคลมสินไหมประกันโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันโดยรวม 900 ล้านบาท เฉพาะเดือนกันยายนนี้จ่ายเคลมร่วม 700 ล้านบาท โดยคาดว่า ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะสามารถจ่ายเคลมตามลูกค้ายืนขอเบิกเข้ามาราว 10,000 เคลม และคาดว่า กว่าจะสิ้นสุดอายุกรมธรรม์เกือบ 2 หมื่นคน น่าจะมีภาระจ่ายเคลมราว 1,500 ล้านบาท 

นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เดอะวัน ประกันภัย

ไม่ต้องนอนเต้นท์รอ

 อย่างไรก็ตาม สิ้นเดือนกันยายนนี้เชื่อว่า ลูกค้าที่ขอเบิกเคลมสินไหมเข้ามาราว 10,000 เคลมนั้น จะจบได้ ซึ่งบริษัทฯ พยายามจะแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม จะอัพเดตคำขอเบิกเคลมใหม่ ที่จะเข้ามาได้ ไม่ต้องไปเช่าเต้นท์รอเหมือนที่ผ่านมา เพราะแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อทยอยปรับลดลง

 

“ในทางปฎิบัติการจ่ายเคลมภายใน 15 วันทุกบริษัทไม่มีปัญหา บางรายสามารถจ่ายภายใน 3 วัน ถ้าเอกสารครบและถูกต้อง แต่ภายหลังการจ่ายเคลมไปแล้ว เราได้ทำสัญญากับ Surveyor เพื่อรับเรื่องการเคลมโควิด เพราะทาง Surveyor สามารถรับเรื่องทั่วประเทศ โดยผู้ถือกรมธรรม์ต่างจังหวัด ไม่ต้องเดินทางเข้ามายื่นเรื่องถึงส่วนกลาง ขณะเดียวกันทีมนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารอีกด้วย และคปภ. อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนอั้ตราส่วน CAR ให้สอดคล้องกับอายุกรมธรรม์” นายอรัญกล่าว 

 

นายมนตรี วงศ์ท่าเรือ กรรมการผู้จัดการบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทใช้ระบบเทคโนโลยีและอัตโนมัติมากขึ้น โดยได้พัฒนาแพลทฟอร์ม I Covid เพื่อติดตามดูว่า ลูกค้าอยู่ในขั้นตอนไหน พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบการเคลมกรมธรรม์ผ่านแพลทฟอร์ม Line @Southeast.th โดยมีทั้งทีมงานของบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิตเป็นกำลังเสริม 20 คน และทีมงานมอเตอร์และผู้จัดการสาขาอีก 70 สาขาพร้อมกระจายการทำงานทั่วประเทศ เพื่อเร่งจ่ายเคลมเงินประกันโควิด

นายมนตรี วงศ์ท่าเรือ กรรมการผู้จัดการบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

 

“บางทีเรายังพบว่า ผู้ถือกรมธรรม์และเพื่อนติดโควิด แต่ใช้มือถือเบอร์เดียวกันใช้ 8 รายชื่อ ส่ง SMS มาเคลมประกัน ซึ่งเป็นเคสที่เกิดขึ้นจริง แต่ยืนยันบริษัทจะดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่และมีสภาพคล่องเพียงพอ” นายมนตรีกล่าว

 

หน้า 1   หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,716 วันที่ 23 - 25 กันยายน พ.ศ. 2564