ล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง ฉุดงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 23,000 ล้าน

25 ส.ค. 2564 | 19:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2564 | 02:28 น.

สคร.เผย รัฐวิสาหกิจ ดันงบภาครัฐสู้โควิด-19 เบิกงบลงทุนแล้ว 2.1 แสนล้านบาท 96% ของแผนเบิกจ่ายสะสม ยอมรับผลของล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง กระทบงบลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรงมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 210,419 ล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

 

ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุน  10 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - เดือนกรกฎาคม 2564) 34 แห่ง จำนวน 118,262 ล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และการเบิกจ่ายงบลงทุน 7 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (เดือนมกราคม 2564 - เดือนกรกฎาคม 2564) 9 แห่ง จำนวน 92,157 ล้านบาท หรือคิดเป็น  107%  ของแผนเบิกจ่ายสะสม

 

นางปานทิพย์กล่าวว่า  ในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีและเป็นไปตามแผน แต่การประกาศปิดสถานที่ก่อสร้างและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อบางโครงการ/แผนงานเนื่องจากบุคลากรไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างหรือตรวจรับงานได้

 

รวมถึงขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ โดยมีประมาณการมูลค่าผลกระทบถึงสิ้นปี 2564 ประมาณ 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น  6% ของมูลค่ากรอบลงทุนปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่ก่อสร้าง

ผลเบิกจ่ายงบลงทุนปี 64 ณ ก.ค.2564

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่น การประสานหน่วยงานภาครัฐเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง โดยมีมาตรการที่รัดกุมรองรับ การหาแรงงานและวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ทดแทน รวมทั้ง เร่งรัดงานอื่นมาดำเนินการทดแทน เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร.กล่าวเสริมว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผนหรือสูงกว่าแผน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร.

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี ของ รฟม. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่าย พลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 

ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี- ปากน้ำโพ ของ รฟท. และแผนก่อสร้างศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ. (ระยะที่ 2) ของ กทพ.