อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาด “ทรงตัว”ที่ระดับ 33.35 บาท/ดอลลาร์

13 ส.ค. 2564 | 18:28 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2564 | 01:41 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบอ่อนค่าตามความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับในกรอบประมาณ 33.06-33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ "ทรงตัว"เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ-สัปดาห์หน้า(16-20ส.ค.64) ตลาดติดตามปัจจัย ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 ของไทย

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบอ่อนค่าตามความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนอีกครั้งจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง  

สำหรับสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 2,148.70 ล้านบาท และ 1,021 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 30 ล้านบาท

 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนจากข้อมูลของธนาคาร 10 แห่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2564 โดยธปท. อยู่ที่ -0.11 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ 3.79 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า(16-20ส.ค.64) คาดไว้ที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 ของไทย สถานการณ์โควิดในประเทศ และรายงานการประชุมกนง. (BOT MPC Minutes) เมื่อ 4 ส.ค. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. และบันทึกการประชุมเฟด (FOMC minutes) เมื่อวันที่ 27-28 ก.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 2/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน