อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์

13 ส.ค. 2564 | 07:52 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2564 | 17:23 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วและแรง จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ตลาดการเงินฝั่งไทยปิดทำการ แต่ยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.10 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันที่ 11 สิงหาคม)มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.20 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าเร็วและแรง จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ตลาดการเงินฝั่งไทยปิดทำการ แต่เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

 

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีได้เร็วกว่าคาดไปจนถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่จะมีงานสัมมนาเฟดที่ Jackson Hole ซึ่งต้องจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงาน อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก หรือ ดัชนีการจ้างงานของรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เพราะหากข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดอาจลดคิวอีได้เร็ว ทำให้ เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าหรืออ่อนค่าลงมาได้บ้าง

 

นอกจากนี้ประเด็นการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย ยังมีผลสำคัญต่อทิศทางเงินดอลลาร์และเงินบาท โดยหากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นในฝั่งยุโรป รวมถึงในฝั่งเอเชีย เงินดอลลาร์ก็อาจเริ่มอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เรามองว่า สถานการณ์การระบาดในฝั่งไทยยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะดีขึ้นในระยะสั้น ทำให้ นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้

 

ในส่วนโฟลว์การทำธุรกรรม เราเชื่อว่า บรรดาผู้นำเข้าจะทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงจังหวะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว จะช่วยหนุนให้ เงินบาทไม่ได้แข็งค่าไปมาก และมีโซนแนวรับสำคัญใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์

 

อนึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด COVID-19 อาจทำให้ทิศทางของเงินบาทยังคงผันผวนอยู่ในระยะสั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ใช้ Options เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.20 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.30% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวกกว่า +0.35% ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง อาทิ Disney ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 5.5% หลังประกาศผลกำไรดีกว่าคาด จากธุรกิจ Streaming Disney+ ที่มีสมาชิกสูงกว่าที่ตลาดมองไว้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจสวนสนุกก็กลับมากำไรสูงกว่าคาด หลังผู้คนเริ่มกลับมาเที่ยวมาขึ้นจากการทยอยเปิดเมือง

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +0.48% ตามบรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen +1.5%, BMW +1.3% หรือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Adidas +1.7%, Intidex +1.2% (แบรนด์ Zara), Louis Vuitton +1.0%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงผลประมูลบอนด์ 30ปี สหรัฐฯ ที่มีความต้องการของผู้เล่นในตลาดน้อยกว่าคาด และเสียงสนับสนุนการทยอยลดคิวอีภายในปีนี้จากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 1.36% ซึ่งการเคลื่อนไหวปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และมีโอกาสปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.50%-1.60% ณ สิ้นปีนี้

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นหนุนอยู่ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการทยอยปรับลดคิวอีภายในปีนี้ แม้ว่า ในช่วงวันที่ 11 และวันที่ 12 สิงหาคม เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ออกมาอยู่ที่ระดับ 5.4% ซึ่งไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมากนัก ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93 จุด แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากที่ย่อลงใกล้ระดับ 92.8 จุด หลังประกาศเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันที่ 11 สิงหาคม

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ ตลาดมองว่า ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับ 81 จุด และอาจสะท้อนว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึง ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงได้ในระยะสั้น สอดคล้องกับประมาณการผลประกอบการของบริษัทที่พักแรม อาทิ Airbnb ที่มองว่ายอดจองที่พักอาจลดลง หลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33.15-33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ (13 ส.ค.) ที่ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าอีกครั้งตามสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศซึ่งมีรายงานล่าสุด ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำนิวไฮที่ 23,418 ราย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงสะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นหลังรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 7.8% YoY ในเดือนก.ค. (สูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลนี้ในปี 2553)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.0-33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย ดัชนีราคาสินค้านำเข้าเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น)