ผวาวิกฤตดันบาทอ่อน ทองไทยมีลุ้นไปต่อ 30,000 บาทหรือไม่?

24 ก.ค. 2564 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 22:18 น.
871

ผวาวิกฤตดันบาทอ่อน ทองไทยมีลุ้นไปต่อ 30,000 บาทหรือไม่? คอลัมน์ ครบเครื่องเรื่องทอง โดย MTS Gold แม่ทองสุก MTSแนะการลงทุนทองคำ มีจุดน่าสนใจและจุดหักเห แนะนักลงทุนถือครองทองคำในพอร์ต 5-20%

จากความผันผวนของราคาทองคำและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากสภาวะการติดเชื้อไวรัสโคโรนา จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยเงินบาทอ่อนค่าจาก 31 บาท/ดอลลาร์ มาที่ระดับ 32.85 บาท/ดอลลาร์ ณ วันที่เขียนบทความ (22 ก.ค. 2564)

 

สภาวะเงินบาทที่อ่อนค่า เราจะเห็นได้ว่า มีการอ่อนตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกที่ 2 หรือในช่วงม.ค. 64 โดยเงินบาทจากแถวระดับ 30.00 บาท/ดอลลาร์ และเริ่มปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากที่การแพร่ระบาดระลอก 2 ในไทยนั้นเริ่มที่จะควบคุมไม่ได้ โดยเริ่มอ่อนค่ามากขึ้นตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา

 

บอกได้ว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ของปี 2564 ณ ขณะนี้จากเดือนก.พ.-ปลายเดือนก.ค. ต้องถือว่าเงินบาทมีการปรับอ่อนค่าลงประมาณ 2.80 บาท/ดอลลาร์

 

การเปรียบเทียบทิศทางเศรษฐกิจจากหลายๆสำนัก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือ ธปท. ที่เคยคาดเศรษฐกิจจะโตได้ 3% แต่หลังจากไตรมาสที่ 1 เป็นต้นมา ต่างก็เห็นพ้องกันและปรับประมาณการณ์เหลือเพียง 2% ซึ่งขณะนี้อยู่ช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ประมาณการณ์โดยสำนักต่างๆ รวมทั้งธปท. กลับมองว่า จีดีพีไทยอาจโตได้เพียง 1.2% หรือน้อยกว่า

 

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดระลอก 3 ของไทยที่เกิดจากสายพันธุ์ Delta Covid-19 ส่งผลให้มียอดติดเชื้อใหม่ในไทยรายวันทะลุ 10,000 คนขึ้นมาในช่วงกลางเดือนก.ค. ซึ่งนโยบายของไทยในการพยายามจะเปิดประเทศโดยใช้ภูเก็ตโมเดล ดูจะชะงักงันลงไปบ้าง

 

ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศดูจะประสบภาวะติดขัด และมีการ Lockdown ใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดง และทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจีดีพีไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 30% และปัจจัยขับเคลื่อนเพียงตัวเดียวของไทย คือ “การส่งออก” ที่ดูจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เริ่มจะเห็นได้ถึงการที่โรงงานหลายแห่งมีการหยุดพักหรือปิดตัวจากพนักงานที่ติดเชื้อ Covid-19 หรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นโซนสีแดง 

 

ขณะที่โรงงานจิวเวลรีหลายแห่งจำนวนมาก มีการปิดตัว และมีหลายแห่งปิดทำการอย่างถาวรด้วยซ้ำไป ซึ่งสภาวะแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเองประสบภาวะย่ำแย่ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจกับการอ่อนค่าของเงินบาทกว่า 2.80 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงต้นปีที่เคลื่อนไหวบริเวณ 29.95 -30.00 บาท/ดอลลาร์ นำมาซึ่งการวิเคราะห์ของหลายๆฝ่ายมองว่า หากสถานการณ์ระบาดของ Delta Covid-19 ภายในสองสัปดาห์ ไม่สามารถคุมได้ การติดเชื้ออาจทะลุ 15,000 – 30,000 คนได้ และนั่นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างรุนแรง 

 

ดังนั้นโอกาสจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงปลายปีมีอยู่สูง ซึ่งหลายสำนักก็เริ่มมีการวิเคราะห์ว่า ว่าเงินบาทมีโอกาสทะลุ 33 บาท/ดอลลาร์ไปได้ไกลขนาดไหนนั้น นักวิเคราะห์บางรายก็มองว่าอาจขึ้นไปถึง 35 บาท/ดอลลาร์บ้างแล้ว จึงนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าราคาทองคำไทยจะไปถึง 30,000 บาท/บาททองคำได้หรือไม่

 

ราคาทองคำตลาดโลก ณ ขณะนี้ ประสบภาวะชะงักงันบริเวณ 1,800 เหรียญ หลังจากที่พยายามทะยานกลับขึ้นมาในช่วงเดือนมิ.ย. ก็ดูจะเผชิญกับความกังวลเรื่องที่เฟดจะดำเนินการ Tapering QE และโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด

 

จึงพอจะสรุปได้ว่า ตั้งแต่ ก.ค.–ธ.ค.ปีนี้ หรือภาพรวมครึ่งปีหลัง สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากโอกาสที่เฟดจะยุติการดำเนินการข้างต้าน และแน่นอนว่า การแข็งค่าของดอลลาร์ก็จะหยุดชะงักไป

 

ซึ่งแรงกดดันของทองคำ ณ ปัจจุบัน มาจากการแข็งค่าของดอลลาร์จากบริเวณ 91 จุด มาแถว 93.20 จุด แต่การที่ดอลลาร์แข็งค่าอาจไม่ส่งผลดีต่อประเทศสหรัฐฯ เพราะจะกระทบต่อภาคการส่งออกเช่นเดียวกัน และต้องไม่ลืมว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวได้ เป็นผลมาจากการอัดฉีดเงิน (QE) หรือเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับการกระตุ้นและอัดฉีดทางการเงินอย่างรุนแรง

 

ดังนั้น ภาวะความสับสนและความวุ่นวายในการลงทุนทองคำน่าจะมีความยากลำบาก และไม่แน่นอนในทิศทางขาขึ้นและขาลงต่อเนื่อง โอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นแรงๆ หรือปรับตัวลงไปใหม่ก็มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่า “ทองคำจะรุ่งหรือจะร่วง”

 

ถ้าพิจารณาภาพระยะยาว จะเห็นทองคำรุ่งมากกว่าร่วง นั่นคือการร่วงจะเกิดขึ้นจากการทำ Tapering QE และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังจากเฟด

ภาพรวม ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างยากที่จะพิจารณาว่า จะขึ้นหรือลงแบบขาเดียว  เนื่องจากสภาวะการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจนั่นเอง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ดูจะได้รับแรงหนุนจากการอัดฉีดเงินหรือ QE ในระบบเป็นจำนวนมากจึงมีโอกาสเห็นจีดีพีไป 7% แต่หากปราศจาก QE

 

สรุปแล้วการเคลื่อนไหวของทองคำในตลาดโลก ค่อนข้างยากจะระบุได้ว่าทองคำจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ทั้งในการวิเคราะห์เชิงเดี่ยวและเชิงผสมผสาน เพราะถึงแม้เงินบาทจะอ่อนค่าและมีโอกาสไปถึง 35 บาท/ดอลลาร์ MTS GOLD ก็ไม่คิดว่าทองคำไทยในรูปเงินบาทจะไปแตะ 30,000 บาท/บาททองคำได้

 

อันเป็นผลจากเงินบาทเพียงอย่างเดียว เพราะหากจะไปถึง 30,000 บาท/บาททองคำได้ ต้องเห็นราคาทองคำตลาดโลกขึ้นไปถึง 1,900 เหรียญให้ได้ด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในทองคำ ณ ขณะนี้ ต้องถือว่า มีจุดน่าสนใจและจุดหักเห ที่จะทำให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำในพอร์ตมากพอสมควร MTS GOLD จึงแนะนำให้นักลงทุนถือครองทองคำในพอร์ต 5-20% ขึ้นกับความสามารถในการรับรู้การลงทุนในทองคำและความเสี่ยงนั่นเอง