ธปท.เล็งทบทวนประมาณการจีดีพี-ชี้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

12 ก.ค. 2564 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 00:48 น.

ธปท.เล็งทบทวนจีดีพี ชี้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น จับตา “สายพันธุ์เดลต้า-ล็อคดาวน์” คาดกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย พร้อมติดตามประเมินผลกระทบระยะสั้นและยาว รวมถึงมาตการเพิ่มเติมที่จะออกมาในช่วงที่เหลือ

ธปท.พบนักวิเคราะห์ ชี้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น  “การระบาดระลอกใหม่-ล็อคดาวน์”กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าคาด  ขอประเมินผลกระทบเศรษฐกิจและระบบการเงินก่อนปรับประมาณการจีดีพี  ย้ำนโยบายการเงินเน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญพร้อมประสานนโยบายคลังและสาธารณสุข

 นายเมธี  สุภาพงษ์  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์(Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 12กรกฎาคม 2564  โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ระบาดโควิดและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มยังคงจะอยู่ในสถานการนี้อีกระยะ   โดยธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างใกล้ชิด  เพื่อดูว่านโยบายที่มีอยู่เพียงพอหรือต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีก   ทั้งนี้ การผสมผสานระหว่างมาตรการทางการเงิน  ทางการคลัง มาตรการด้านสาธารณสุข ควรจะทำอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์รวมทั้ง ความร่วมมือของประชาชนทุกคนในการป้องกันและลดการแพร่ระบาด เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผ่านพ้นวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจไปได้โดยเร็วอย่างยั่งยืน

ต่อข้อถามมาตรการกึ่งล็อคดาวน์และผลกระทบเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตานั้น ธปท.จะติดตามประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมบ้าง

               “Lockdownเพิ่งเริ่มในวันนี้และต่อเนื่องอีก 14วันซึ่งธปท.จะติดตามระยะสั้นและระยะยาวและดูว่าภายหลังการล็อคดาวน์แล้วจะมีมาตรการอะไรต่อไปหรือสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามดูตามสถานการณ์  ส่วนเรื่องสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรงซึ่งมีความเสี่ยงที่การควบคุมการระบาดได้ช้าลงและได้ภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลงตามมุมมองของบอรด์กนง.”

ธปท.เล็งทบทวนประมาณการจีดีพี-ชี้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

นางสาวชญาวดี  ชัยอนันต์  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า สมมติฐานการประเมินเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้รวมปัจจัยการระบาดของสายพันธุ์เดลตาว่ามีผลกระทบในระดับหนึ่ง หากมีความยืดเยื้อ ระบาดรุนแรงและขยายวงกว้างมีโอกาสมากที่เศรษฐกิจไทยจะไม่อยู่ในกรณีฐาน(Baseline) มองไปข้างหน้ามีปัจจัยหลายอย่างที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลักๆคือ ความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจต่างๆที่ฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน เช่น ตลาดแรงงาน มีความเปราะบาง ธปท.ยังติดตามสัญญาณผู้ว่างงานระยะยาวขึ้นอย่างใกล้ชิดซึ่งกลุ่มนี้อาจจะเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานช้ากว่าอดีต  (เทียบ 4เหตุการณ์: วิกฤติเศรษฐกิจโลก  น้ำท่วม  การเมือง  การระบาดของโควิด-19) ซึ่งผลการจ้างงานลูกจ้างเอกชน นอกภาคเกษตรผลกระทบลึกกว่า ซึ่งอาจจะเห็นการฟื้นตัวในลักษณะ W- shapedในระยะต่อไป   ส่วนภาคบริการปรับลดการจ้างลง เป็นพาร์ทไทม์มากขึ้น  รายได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องฐานะการเงินครัวเรือนที่เปราะบาง  เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มการบริโภคซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้น อัตราดอกเบี้นสูง  กลุ่มอาชีพอิสระมีปัญหาเรื่องรายได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาด้านการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว  หรือการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยข้างนอก เช่น ขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ ค่าขนส่งแพง วัตถุดิบราคาสูงขึ้นรวมทั้งเหล็กกดดันต้นทุนและการผลิต

“ การประเมินBaselineเมื่อวันที่ 22มิถุนายนนั้นสายพันธ์เดลต้ายังไม่รุนแรงเท่านี้  ความรุนแรงของจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่สูงเท่านี้ เพราะฉะนั้น มีโอกาสมากที่เศรษฐกิจจะไม่อยู่ในBaseline  โดยธปท.ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็น 1.8% ณวันนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากปัจจัยลบที่เห็นความไม่แน่นอนของการะบาด  ความยืดเยื้อ  แต่ถ้ามีมาตรการเพิ่มเติมและมากกว่าที่คาดก็จะเป็นปัจจัยบวกที่มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน  ส่วนการเริ่มมาตรการล็อคดาวน์อาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้  จึงขอเวลาประเมินมาตรการที่ออกมาและผลกระทบ”

ในแง่ของการฉีดวัคซีนนั้น  ที่ผ่านมา ธปท.ยังได้ประเมินปริมาณการฉีดวัคซีนประมาณ 3-4แสนโดสต่อวันซึ่งขึ้นอยู่กับซัพพลายของวัคซีน  หรือปัจจัยอื่นที่น่าจะส่งผลกระทบ  เช่น ฐานะการเงินของครัวเรือน  ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ซึ่งต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเม็ดเงินจากมาตรการทางการคลังและนโยบายการเปิดประเทศด้วย โดยยังมีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นในช่วงนี้

ต่อข้อถามการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทนั้น   ธปท.มองว่า ปีนี้ยังมี พ.ร.ก.เดิมที่ยังเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง  โดยมองว่าปีนี้การเบิกจ่าย ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทราว 100,000ล้านบาท ส่วนที่เหลือน่าจะเบิกจ่ายอีก 2แสนล้านบาทในปี 2565   แต่ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่พ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทจะถูกนำมาใช้ในปีนี้  

ธปท.เล็งทบทวนประมาณการจีดีพี-ชี้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

นายสักกะภพ  พันธ์ยานุกูล  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาวะการเงินของไทย โดยรวมยังผ่อนคลาย ไม่ว่าตลาดสินเชื่อ  ตลาดพันธบัตร ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยตลาดสินเชื่อ ต้นทุนการลงทุนผ่านสินเชื่อปล่อยใหม่ ทยอยปรับลดลง  ในแง่ปริมาณพบว่า ภาคธุรกิจระดมทุนได้ต่อเนื่อง แม้ภาพรวมการลงทุนชะลอลงจากช่วงไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อที่ยังเติบโตได้ดีจะเชื่อมโยงกับภาคการผลิตเพื่อส่งออกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อซอฟต์โลน  หากมองไปข้างหน้าผลจากการระบาดระลอก 3 ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นแต่มีสินเชื่อฟื้นฟูช่วยเติมเงิน

ด้านตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) ระยะสั้นทรงตัวอยู่ระดับต่ำใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย  ส่วนยีลด์ระยะยาวปรับลดลงตามพันธบัตรสหรัฐ  ขณะที่ยีลด์ระยะ 5ปีปรับลดลงเร็วกว่าระยะอื่น  หลังจากแผนการออกตราสารหนี้ระยะกลางน้อยกว่าตลาดคาด สำหรับส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเครดิตเรตติ้งที่ดี (AAA ) ปรับลดลงมาต่อเนื่องใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้ว สะท้อนสภาพคล่องในระบบและSearch for Yield ของนักลงทุน แต่บริษัทเตรียมการออกตราสารหนี้เพื่อชำระหนี้เดิมในระยะข้างหน้าได้โดยยังไม่มีประเด็น ขณะที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์และสกุลเงินในภุมิภาคยังสะท้อนทิศทางอ่อนค่าและแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัด ถ้านักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาในปี 2564 มีแนวโน้มที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงค่อนข้างมากจากช่วงก่อนหน้า  ระยะสั้นดอลลาร์สหรัฐยังมีความผันผวนมากขึ้น ตามตลาดคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยและQE  Tapering  แต่ระยะยาวดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง  โดยธปท.มองเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดระลอกใหม่  และฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาด  โจทย์สำคัญ คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพรวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดให้ทันการณ์และเพียงพอ  เพราะหากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก  ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มองว่า ต้องเร่งดำเนินนโยบายที่ออกไปแล้ว ควบคู่กันทุกภาคส่วน ไม่ว่านโยบายการเงิน การคลังที่ออกไปแล้ว ซึ่งต้องเร่งในระยะสั้น  เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง      และน้ำหนักของนโยบายการเงินช่วงนี้เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

“ปัจจัยหลักของการดำเนินนโยบายการเงินเน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  การกระจายสินเชื่อมีส่วนสำคัญในการทำให้สภาพคล่องไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบและกนง.ยังติดตามสถานการณ์ หากมีเหตุการณ์รุนแรงก็พร้อมใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเกิดประสิทธิผลสูงสุด”

อย่างไรก็ตาม  6เดือนต่อจากนี้มีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งผลักดันทุกมาตรการต่างๆ ซึ่งระยะสั้นจะเป็นมาตรการเยียวยาและเติมรายได้ เป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับด้านแรงงาน และมาตรการเติมเงินด้านอื่นๆ ก็ยังจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงควบคุมการระบาดไม่ได้ การเติมสภาพคล่องใหม่ในแง่ของมาตรการการเงิน   เช่น สินเชื่อฟื้นฟู  การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้เดิม   โดยเห็นได้จากสองส่วน คือ การเติมเงินใหม่ผ่านมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินสินเชื่อต่างๆ (แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์)  ส่วนหนึ่งคือ เรื่องลดภาระของหนี้เดิม  ส่วนมาตรการทางการเงินจะเป็นตัวช่วยทำให้เรื่องดอกเบี้ยต่ำ ปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้น 

ธปท.เล็งทบทวนประมาณการจีดีพี-ชี้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น