ธนาคารกรุงไทยระบุค่าเงินบาทเปิด“แข็งค่า” ที่ระดับ 32.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

12 ก.ค. 2564 | 07:16 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 16:53 น.

ธนาคารกรุงไทยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้“แข็งค่า” จับตา 3ปัจจัย “ แนวโน้มเงินดอลลาร์ - แนวโน้มเงินหยวนของจีน และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.52 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.40-32.90 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.45-32.60 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ยังคงกดดันตลาดการเงินฝั่ง EM และทำให้ธนาคารกลางหลายที่จำเป็นต้องเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป อาทิ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติกาณ์

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ GDP Q2/2021 รวมถึง ข้อมูลรายเดือน อาทิ Retail Sales ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงิน

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – เรามองว่า ในการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Semi-Annual Testimony) ประธานเฟดจะแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่า ประธานเฟดจะเน้นย้ำว่า นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ แม้ ตลาดจะประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน จะหดตัว -0.4% จากเดือนก่อนหน้า แต่ไม่ได้แปลว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะมีปัญหา เนื่องจาก ยอดค้าปลีกอาจชะลอลงบ้าง หลังปัจจัยหนุนจาก Stimulus หมดลง แต่โดยรวมเทรนด์ยอดค้าปลีกยังปรับตัวสูงขึ้น หนุนโดยแนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึง ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.5 จุด สะท้อนว่า การบริโภคในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

 

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป – แม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังสดใส จากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดในยุโรปที่พุ่งขึ้นรวดเร็ว ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังและควรติดตามแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 และ การเร่งแจกจ่ายวัคซีน อย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถควบคุมปัญหาการระบาดได้หรือไม่ เพราะหากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องใช้นโยบายควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น กดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า ประเทศในโซนยุโรป รวมถึงอังกฤษ จะเผชิญปัญหาการระบาดไม่นาน เพราะประชากรเกิน 50% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้หากเร่งแจกจ่ายวัคซีนให้เร็วขึ้นและเร่งการตรวจโรค ก็จะสามารถคุมการระบาดได้เร็ว กว่าประเทศในฝั่งเอเชีย หรือ อเมริกาใต้ ที่ยังแจกจ่ายวัคซีนได้ไม่ดีและเน้นแจกจ่ายวัคซีนหลักที่มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกัน Delta

 

และในฝั่งเอเชีย – แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้ บรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียเลือกที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ไว้ที่ระดับ 0.25% เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ -0.10% พร้อมคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ 0.0% และเดินหน้าทำคิวอีต่อ หลังเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี เพราะแม้จะมีการจัด Tokyo Olympic แต่ก็ไม่มีผู้ชมสำหรับรายการแข่งใน Tokyo และพื้นที่ข้างเคียง ทำให้เศรษฐกิจแทบไม่ได้รับอานิสงส์จากการจัด Olympic ตามที่เคยประเมินไว้ ส่วนในฝั่งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเกาหลีใต้ก็เริ่มเจอการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากการระบาดสงบลงและเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น BOK อาจเป็นธนาคารกลางแรกในเอเชียที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า

 

นอกเหนือจากผลการประชุมของธนาคารกลาง ตลาดจะติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ที่โดยรวมโมเมนตัมการฟื้นตัวเริ่มอ่อนแรงลงมากขึ้น สะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน ที่จะขยายตัว 10.9%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และ ยอดการลงทุนสินทรัพย์คงทน (Fixed Asset Investment) ที่จะโตราว 8.0%y/y และ 12%y/y ตามลำดับ แต่ก็เป็นการชะลอตัวลงจากช่วงต้นปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวราว 8.0%y/y ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่โตถึง 18.3%y/y ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก เพราะไตรมาสแรกขยายตัวแข็งแกร่งนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากฐานที่ต่ำของปี 2020

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มีสามประเด็นที่ต้องจับตา 1. แนวโน้มเงินดอลลาร์ 2. แนวโน้มเงินหยวนของจีน และ 3. ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย

โดยเรามองว่า ในส่วนของเงินดอลลาร์อาจมีแนวโน้มเคลื่อนไหว Sideways หลังโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนแรงลง เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้ถึงจุด”Peak” ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หากการระบาด COVID-19 ทั่วโลกเลวร้ายมากขึ้น

ส่วนทางด้านเงินหยวนของจีน (CNY) เรามองว่ามีโอกาสที่เงินหยวนจะผันผวนและอ่อนค่าลง กดดันให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียอ่อนค่าลงตามได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนในสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวที่ชะลอลงมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้ ธนาคารกลางจีนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็อาจชะลอการลงทุนในตลาดทุนจีนไปก่อน ทำให้เงินหยวนขาดแรงหนุนด้านแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนั้น ปัญหาการระบาด COVID-19 ในไทยที่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น (อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้)

อย่างไรก็ดี ควรจับตาแนวต้านสำคัญในโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ อาจอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

 

ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.40-32.90 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.45-32.60 บาท/ดอลลาร์

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (12 ก.ค.เวลา9.13น.) เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.60-32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการดูแลสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี  
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ และทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรสของนายเจอโรม พาวเวลประธานเฟดในช่วงกลางสัปดาห์