โบรกเกอร์เดือน เก็บภาษี ขายหุ้น ฉุดกระแสเงินทุนต่างชาติ

10 ก.ค. 2564 | 08:48 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2564 | 15:48 น.
695

โบรกเกอร์ เผยแนวคิดจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น 0.11% ลดแรงเก็งกำไรระยะสั้นได้ แต่กระทบต้นทุนนักลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว หวั่นมีผลต่อมูลค่าซื้อขาย และลดแรงจูงใจลงทุนในตลาดหุ้น

 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในตลาดทุนไทยไม่น้อย เมื่อมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลเตรียมพิจารณาจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นของ นักลงทุนรายย่อย ที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอัตรา 0.11% จากยอดธุรกรรม หลังจากมีการยกเว้นตั้งแต่ปี 2534

 

ล่าสุด นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรออกมาระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งยังไม่ได้มอบนโยบายมาที่กรมสรรพากร เชื่อว่า ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างรอบด้านและคงไม่นำมาบังคับใช้เร็วๆ นี้

สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระแสข่าวแนวคิดการปฏิรูปภาษีซื้อขายหลักทรัพย์คาดว่า มาจากสาเหตุที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายและขาดดุล ทำให้มีการสั่งทบทวนในส่วนของภาษีซื้อขายหลักทรัพย์

 

ซึ่งในไทยและต่างประเทศมีการจัดเก็บหลายรูปแบบ ทั้งค่าธรรมเนียม ภาษีจากค่านายหน้า (คอมมิชชั่น) ภาษีจากเงินปันผลและภาษีจากกำไรการซื้อขายหุ้น แต่ไทยได้ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนมากขึ้น

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด

 อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.11% จริง จะส่งผลให้นักลงทุนมีต้นทุนที่สูงขึ้นเท่าตัว จากที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์อยู่แล้วที่ 0.05-0.15%  และยังทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลง

 

จากปัจจุบันไม่มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีธุรกิจตอบรับกระแสการลงทุนโลกอยู่แล้ว แม้สภาพคล่องยังสูงก็ตาม และหากจัดเก็บทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ จะยิ่งทำให้การจูงใจเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยลดน้อยลงไปอีก

 

“มองว่า ไม่น่าจะมีการจัดเก็บภาษี เพราะขั้นตอนระบบที่เกี่ยวข้องหรือการเก็บข้อมูลต้องมีการดำเนินการที่ค่อนข้างยุ่งยาก อีกทั้งหากมองในมุมนักลงทุน การจ่ายเพิ่มที่ 0.11% ถือเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นถึงเท่าตัวและเยอะมาก"นายกิจพณกล่าว

 

ทั้งนี้ ต้นทุนที่สูงขึ้นจะลดทอนความน่าสนใจลงทุนลงไปอีก หากลดอัตราจัดเก็บเหลือ 0.01% ยังพอเป็นไปได้มากกว่า และอีกทางมองว่า เป็นการสกัดการเก็งกำไรระยะสั้นได้ แต่มูลค่าซื้อขายจะลดลงตามแน่นอน

 นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัดกล่าวว่า ไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ 0.1% อยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ได้ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ภาครัฐจึงสามารถพิจารณากลับมาจัดเก็บภาษีได้ หากต้องการขยายฐานภาษี

ชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด

 

ทั้งนี้ หากกลับจัดเก็บภาษีจริงคาดว่า จะส่งผลให้รัฐมีรายได้เพิ่มปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท หากมูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 2-3 ล้านบาทต่อเดือน หากเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้นักลงทุนประเภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี

 

 “เบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ช่วงครึ่งแรกปี 64 รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าซื้อขายรวมที่ 11.3 ล้านล้านบาท และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีตพบว่า ส่วนใหญ่แล้ว รัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 10,000 ล้านบาทต่อปี” นายชาญชัยกล่าว

โบรกเกอร์เดือน เก็บภาษี ขายหุ้น  ฉุดกระแสเงินทุนต่างชาติ

 ขณะเดียวกัน ขีดความสามารถในการแข่งขันจะลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการซื้อขายลดลง จากต้นทุนการทำธุรกรรมที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง

 

โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร รวมถึงมูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง จากมูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ มองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะยังไม่นำมาใช้จริงในช่วงเวลาอันสั้น

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า หากมีการจัดเก็บภาษีจริง จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแน่นอน เพราะจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายสูงขึ้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีของตลาดทุนทั่วโลกมีหลายประเภท เช่น Transaction tax, Dividend tax, Capital gains tax ขึ้นกับสภาวะและสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564