อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด“อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

08 ก.ค. 2564 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 21:59 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ -การระบาดของโควิดในไทยเข้าสู่จุดวิกฤติ หลังยอดผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น และการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในไทย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.36 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.28 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.40 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทยที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท

 

โดยเรามองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยมีแนวโน้มเข้าสู่จุดวิกฤติที่หนักกว่าการระบาดในทุกรอบที่ผ่านมา หลังยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอาจมากกว่าตัวเลขที่ประกาศไปมาก รวมถึง การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

นอกจากนี้ เรามองว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าได้ถึงระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านแถว 32.25 บาทต่อดอลลาร์

 

และจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ระบุว่า คณะกรรมการ FOMC ยังไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาของการปรับลดคิวอี (QE Tapering) ได้ เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ FOMC บางส่วนเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและอาจสามารถบรรลุเงื่อนไขสำหรับเริ่มการลดคิวอี ได้เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้

 

แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ได้ช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถเดินหน้าปรับตัวขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.34% ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ระบุถึงการปรับเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ จากเป้าหมายเดิมที่ เงินเฟ้อต่ำกว่า แต่เข้าใกล้ 2% มาเป็นเป้าหมายใหม่ที่ เงินเฟ้อระดับ 2% และสามารถปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงกว่าเป้าหมาย (Overshoot) ได้สักระยะหนึ่งหากจำเป็น ซึ่งการปรับเป้าหมายด้านเงินเฟ้อดังกล่าว สะท้อนว่า นโยบายการเงินของ ECB มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายต่อไป โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่อง ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ ตลาดหุ้นฝั่งยุโรป ล้วนปรับตัวขึ้น แม้จะยังคงมีความกังวลปัญหาการระบาด COVID-19 ก็ตาม โดยล่าสุด ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นกว่า 0.64%

 

ภาวะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell2000 ที่ปรับตัวลดลงกว่า -1.36% ส่วนดัชนี Dowjones และ S&P500 ย่อตัวลงราว -0.60% และ -0.20% ตามลำดับ ในขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.17% หนุนโดย การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ล่าสุด ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.35%    

 

ทั้งนี้ แม้ในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยงจะสะท้อนภาพการเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาด แต่ฝั่งตลาดบอนด์ กลับส่งสัญญาณว่าผู้ในตลาดบอนด์มีมุมมองที่ระมัดระวังตัวมากขึ้นและเดินหน้าเพื่อสถานะถือครองบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่อง 4bps สู่ระดับ 1.32% ซึ่งแรงหนุนบอนด์ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เฟดยังไม่มีท่าทีเร่งรีบลดการอัดฉีดสภาพคล่องและการปรับสถานะ Short ของผู้เล่นที่ก่อนหน้านี้มองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวควรจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ทว่า บอนด์ยีลด์กลับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จึงต้องปิดสถานะ Shorts (Cover Shorts)

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ เดินหน้าแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด (Safe Haven Assets) ทำให้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.71 จุด กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.179 ดอลลาร์ต่อยูโร  ส่วน ค่าเงินกลุ่ม Commodities-linked อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ก็ยังคงอ่อนค่าลง สู่ระดับ 0.747 ดอลลาร์ต่อ AUD เช่นเดียวกันกับ แคนาเดียนดอลลาร์ (CAD) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.249 CAD/ดอลลาร์ ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ยังได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้ระดับ 1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า การจ้างงานในสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการทยอยเปิดเมือง ส่งผลให้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 3.5 แสนราย

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย  ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ไว้ที่ระดับ 1.75% หลังมาเลเซียเจอการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรง

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม แนวโน้มการระบาดของ COVID-19 รวมถึงอัตราการแจกจ่ายวัคซีน ทั่วโลก หลังการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ยังมีความรุนแรงอยู่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (8 ก.ค.)
เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 14 เดือนครั้งใหม่ใกล้ระดับ 32.45  บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทเผชิญแรงขายเช่นเดียวกับอีกหลายๆ สกุลเงินในภูมิภาค ท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด 19 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ทางการในหลายๆ ประเทศต้องมีการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด และติดตามสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์อย่างใกล้ชิด
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่การระบาดและมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ ทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ