สบน. ยัน! ไทยไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ย้ำบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด

02 ก.ค. 2564 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 18:10 น.

สบน. แจง ไทยไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ย้ำมีการจัดสรรงบ บริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะ และชำระหนี้ภายใต้กรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด โชว์ Fitch Ratings สหรัฐฯ คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย BBB+

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ  หรือ สบน. ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ ข้อความผ่าน Facebook ว่า “ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงประเทศล้มละลายเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้” นั้น เป็นข้อความเท็จ และยังเป็นการบิดเบือนรายงานของธนาคาร Standard Chartered ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อประเด็นดังกล่าว พร้อมย้ำในแต่ละปีสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ โดยเมื่อได้รับงบชำระหนี้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้นำไปชำระหนี้โดยยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จะต้องได้รับการจัดสรรและชำระอย่างครบถ้วนไม่สามารถลด ตัดทอน หรือโยกงบดังกล่าวไปใช้ในการอื่นได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียความน่าเชื่อถือจากการผิดนัดชำระหนี้

แพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สบน.

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระ ในสัดส่วนร้อยละ 2.5 - ร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และในปี 2563 ได้มีการขยายกรอบดังกล่าวเป็นร้อยละ 2.5 - ร้อยละ 4.0 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี  โดยในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับงบชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่คณะกรรมการกำหนดที่ร้อยละ 2.5 - 4.0 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงการรักษาวินัยในการชำระหนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศ ความมั่นคง และการมีเสถียรภาพทางการคลังเป็นสำคัญ

ผอ.สบน. กล่าวด้วยว่า บริษัท Fitch Ratings (Fitch) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้ ได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 Fitch ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ดำเนินกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สบน. ได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะและการชำระหนี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้