ธ.ก.ส. ชี้้ ล็อกดาวน์โควิด-19 หนุนราคาสินค้าเกษตร ก.ค. ปรับตัวขึ้น

01 ก.ค. 2564 | 10:29 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2564 | 17:44 น.

ธ.ก.ส. ชี้ล็อกดาวน์คุมโควิด และความต้องการของตลาดโลก หนุนราคาข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มัน และหมู ปรับตัวขึ้น ขณะที่สินค้าบางรายการมีแนวโน้มราคาลง หลังติดขัดส่งออก เหตุขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง เนื้อสกุร  ขณะที่สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

โดยคาดว่า ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,623 -8,834 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.25% - 3.73% เนื่องจากความต้องการข้าวของผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีแนวโน้มเผชิญกับพายุหลายลูกในช่วงฤดูฝนจนถึงเดือนกันยายน 2564 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวมีปริมาณน้อยลง และอินโดนีเซียที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจซื้อข้าวระหว่างรัฐบาลไทย ซึ่งจะทยอยส่งมอบข้าวจำนวนมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,494 - 10,601 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.38 - 1.41 เนื่องจากความต้องการใช้ข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นในเทศกาลวันเข้าพรรษา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.11 - 8.17 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 1.00 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย คาดว่าในเดือนนี้จะมีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ร้อยละ 1.30 ของผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่น ๆ อาทิ ถั่วเหลือง ปรับตัวสูงขึ้นตามคำสั่งซื้อของประเทศจีน 

ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 56.45 - 57.45 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.02 - 1.79 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางพาราที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 0.436 ล้านตัน ลดลงจากเดือนก่อน (0.440 ล้านตัน) ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Index : PMI) ของประเทศคู่ค้าสำคัญอยู่เหนือระดับ 50 ได้แก่ สหรัฐฯ (62.1) จีน (51.0) ญี่ปุ่น (53.0) และ ยูโรโซน (63.1) ที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นในการลงทุนและเป็นโอกาสในการนำเข้ายางพาราจากไทยเพิ่มขึ้น โดยอัตราค่าเงินบาท ณ 24 มิถุนายน 2564 เท่ากับ 31.801 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ 31.4898 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อเพิ่มอุปทานการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโลก ซึ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.92 – 1.95 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.52 – 2.09 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน - เดือนกรกฎาคม 2564 ส่งผลดีต่อคุณภาพผลผลิต ทำให้มีเชื้อแป้งอยู่ในระดับสูง และปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่มีสัญญาณอ่อนค่าลงจะเป็นผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

และสุกร ราคาอยู่ที่ 72.40-73.31 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.70 – 1.96 เนื่องจากพบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงฆ่าสัตว์ของพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายเนื้อสุกรสำคัญของประเทศ ส่งผลให้เนื้อสุกรออกสู่ตลาดลดลง และการเจรจาทางการค้าของภาครัฐกับเวียดนาม เพื่อชี้แจงการไม่พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของไทย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออกสุกรขุนมีชีวิตจากไทยไปเวียดนามได้

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,544 -10,641 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.03 - 2.93 เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ กระทบต่อการขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาการส่งมอบข้าวของไทย น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 16.40-17.18 เซนต์/ปอนด์ (11.48 - 12.02 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.00 - 6.50 เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียที่เพิ่มขึ้น โดยสมาคมโรงงานน้ำตาลแห่งอินเดีย รายงานว่า ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 27.1 ล้านตัน มาอยู่ที่ 30.7 ล้านตัน (ช่วงเดือนตุลาคม 2563 - กลางเดือนมิถุนายน 2564) จากการที่หีบอ้อยเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีข้อมูลว่าผลผลิตน้ำตาลของบราซิลจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นจากปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทำให้คลายกังวลจากภัยแล้ง ส่งผลให้กองทุนและนักเก็งกำไรเร่งขายตั๋วน้ำตาลมากขึ้น 

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 5.47-5.73 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.17 - 4.70 เนื่องจากประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้เพียงบางส่วน ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียยังคงอยู่ในระดับที่สูง จึงกดดันราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกให้ลดลง  กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 140.58 – 141.29 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 - 1.00 เนื่องจากมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด และมาตรการเข้มงวดในการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการบริโภคในประเทศให้ลดลง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยที่ขยายตัวได้ดี ตามทิศทางการค้ากุ้งโลกที่ฟื้นตัว อาจทำให้ราคากุ้งมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้  และโคเนื้อ ราคาเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.03 -0.34 อยู่ที่ราคา 95.80 - 96.10 บาท/กก. เนื่องจากความกังวลในโรคลัมปีสกินที่ระบาดในโคเนื้อ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อโค ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมความรู้ในการป้องกันโรคลัมปีสกินให้ประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจอย่างทั่วถึง

ราคาสินค้าเกษตรคาดการณ์ เดือน ก.ค. 64