จัดพอร์ตลงทุนแบบ SMART

28 ม.ค. 2564 | 13:49 น.

โดย : อรพรรณ บัวประชุม นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย



ใครๆ ก็เลือกลงทุนจัดพอร์ตแบบ SMART ว่าแต่มันดีจริงเหรอ? แล้วมันจะช่วยให้เราจัดการเงินของเราได้จริงมั้ย เราลองมาทำความรู้จักกันดีกว่า การจัดพอร์ตลงทุนแบบ SMART เป็นแนวทางให้กับใครที่อยากจะเริ่มต้นลงทุน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยที่เราต้องเริ่มจาก

 

 

Specific

 

เจาะจงว่าเราต้องการอะไร เราต้องมีเป้าหมายชัดเจนก่อนเป็นอย่างแรก ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการลงทุนเพื่อมีเงินก้อนไว้ใช้หลังเกษียณ ก็ต้องเจาะจงเลยว่าการลงทุนครั้งนี้ มีเป้าหมายสำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ เพราะถ้าเราไม่ได้เจาะจง เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะลืมว่าเราลงทุนเพื่ออะไร ยิ่งเห็นว่ามีเงินก้อนใหญ่ก็จะเริ่มคิดว่าจะเอาไปใช้จ่ายอะไรดี หรือมีอะไรฉุกเฉินก็จะดึงเงินตรงนี้ไปใช้จ่ายก่อน ไม่ว่าจะเป็น ซื้อรถ ซ่อมรถ ไปเที่ยว ซื้อ Smart Phone ซื้อ Smart Watch เพราะถึงเวลานั้น ความอยากมันเข้าตา เอาอะไรมาฉุดก็ไม่อยู่ แถมลืมไปแล้วด้วยว่าเงินที่ลงทุนมีเป้าหมายเพื่ออะไร หลังจากเจาะจงแล้ว เราก็ต้องทำให้สามารถวัดผลได้

 

 

Measurable

 

เพราะแค่กำหนดว่าอยากจะมีเงินเกษียณ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องมีเท่าไหร่ ก็ไม่มีอะไรวัดผลได้เลยว่า จะไปได้ถึงไหม ดังนั้นจึงต้องมีการวัดผลเป็นตัวเงินได้ เช่น ต้องการมีเงินก้อนไว้ใช้หลังเกษียณ 20 ล้านบาท มียอดเงินเอาไว้ เราจะได้รู้ว่าขาดอีกเท่าไหร่ ตอนนี้ลงทุนงอกเงยไปเท่าไหร่แล้ว ซึ่งการวัดผลได้เป็นตัวเงินนั้น ต้องมีการคำนวณก่อนว่า มูลค่าเงิน ณ ปัจจุบัน เงินเท่านี้ ในอนาคตจะเป็นเงินเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่าต้องลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ พอเราเริ่มรู้เรื่องบ้างแล้วเราต้องมาดูว่า เราสามารถทำให้สำเร็จได้ยังไง
 

 

Achievable

 

เช่น เก็บเงินทุกเดือน เก็บเงินทุกปี ลงทุนทุกเดือน ลงทุนทุกไตรมาส ลงทุนทุกปี แต่ถ้าเราเลือกลงทุน ก็ต้องดูว่าเราจะลงทุนในอะไร ผลตอบแทนเท่าไหร่ มีความเสี่ยงมากน้อยเท่าไหร่ เราสามารถทนต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ไหม พอมาถึงตรงนี้ เราก็มาดูที่ความเป็นไปได้

 

Realistic

 

เริ่มจากเราเก็บเงินทุกปี ปีละ 1 ล้านบาท เป็นเวลา 20 ปี หรือเก็บออมเงินทุกเดือน เดือนละ 83,333.33 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี ก็สำเร็จได้ แต่ถ้าเราบอกว่า รายได้เราแค่เดือนละ 50,000 บาท ต้องลงทุนเดือนละ 83,333.33 หากเป็นแบบนี้คงไม่ใช่แล้ว เราต้องหาวิธีใหม่ เช่น ปรับลดเป้าหมายลง จากที่ต้องการ 20 ล้าน ถ้าเหลือ 10 ล้าน เป็นไปได้ไหม ต้องลงทุนเดือนละ 41,667 บาท หรือใช้เงินลงทุนน้อยลงแต่ต้องหาผลตอบแทนที่มากขึ้น หารายได้เพิ่มเพื่อจะได้มีเงินมาลงทุนตามเป้าหมายให้ได้ ตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือ

 

 

Timely

 

ระยะเวลาที่เราต้องการให้เป้าหมายเราสำเร็จ ถ้าเราต้องการลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้เรารู้ว่าสำหรับเป้าหมายนี้ เรามีเวลาลงทุน 20 ปี ตอนนี้เรามีเงินก้อนสำหรับเป้าหมายนี้เท่าไหร่แล้ว ขาดอีกเท่าไหร่ หรือต้องเริ่มเก็บใหม่ตั้งแต่ต้น จะได้รู้ว่าเวลามีเหลือเท่าไหร่ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายและเมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก่อนการจัดพอร์ต อย่าลืมทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุน เพื่อจะได้รู้ว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน แม้ว่าในอดีตเราอาจจะรับความเสี่ยงได้สูงมาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หรือมีเหตุการณ์บางอย่าง อาจทำให้ความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไป การจัดพอร์ตลงทุนแบบ SMART จะช่วยให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะมีเป้าหมายชัดเจน ระยะเวลาที่ต้องการให้บรรลุเป้าหมายชัดเจน

 

มาดูตัวอย่างให้ชัดขึ้นกับการจัดพอร์ตลงทุนสำหรับเงินก้อนจำนวน 20 ล้าน ไว้ใช้หลังเกษียณในอีก 20 ปี ปัจจุบันอายุ 40 ปี คาดว่าจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และใช้เงินหลังเกษียณไปอีก 30 ปี ถึงอายุ 90 ปี โดยต้องการใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทซึ่งเป็นมูลค่าปัจจุบันเมื่อตอนอายุ 40 ปี ซึ่งหากคำนวณเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี อีก 20 ปีข้างหน้า (อายุ 60 ปี เงิน 30,000 บาท จะกลายเป็น 55,000 บาท)

 

หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% และมีเงินก้อนที่ตั้งใจลงทุนสำหรับเป้าหมายนี้แล้ว 2 ล้านบาท จะต้องลงทุนเพิ่มอีกเดือนละ 62,000 บาท เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ในส่วนของสัดส่วนการลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นประมาณ 50% กองทุนตราสารหนี้ 40-45% ส่วนที่เหลืออาจเลือกลงทุนในกองทุนทองคำ

 

ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี ต้องดูความคืบหน้าของเงินก้อนนี้ว่าเติบโตขึ้นมากน้อยขนาดไหน หากไม่เป็นไปตามคาด จะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จได้ หากในอนาคตมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถเพิ่มเงินลงทุน และปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับระยะเวลาคงเหลือในการลงทุน

 

ทีนี้เราก็สามารถเห็นเป้าหมายได้ชัดเจนแล้วว่าการจัดพอร์ตแบบ SMART สามารถทำได้จริง มีความยืดหยุ่น และสามารถขยับขยายได้ตามความต้องการของเรา ซึ่งเราสามารถปรับวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายได้อีก ทั้งนี้ ก็ต้องดูว่าจะปรับเปลี่ยนอะไร จะทำหลายเป้าหมายพร้อมๆ กัน หรือจำเป็นต้องทำบางเป้าหมายให้สำเร็จก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญกับเป้าหมายอะไรบ้าง ตั้งเป้าให้ใหญ่ และไปให้ถึง แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเราไปไม่ถึงเป้าหมายแต่เราก็ลงแรงเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น ผลที่ได้จะเกินกว่าที่ต้องการ