Q1 ธพว.ปล่อยสินเชื่อเข้าเป้า 1 หมื่นล. ยกระดับสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง “เอสเอ็มอี”

17 เม.ย. 2562 | 13:20 น.

          ธพว.เผยปล่อยสินเชื่อประจำ Q1/2562 เข้าเป้า 1 หมื่นล้านบาท  ประกาศเดินหน้าการตลาดเชิงรุก  ผู้บริหารและพนักงาน ประสานพลังกระจายลงพื้นที่มอบสุขแนะนำบริการ “3 เติม” หนุนยอดปล่อยสินเชื่อปีนี้ถึง 6 หมื่นล้านบาท  พร้อมทุ่ม 600 ล้านบาท ยกระดับสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งเพื่อคนตัวเล็ก เล็งออกพันธมิตร 2 หมื่นล้านบาทระดมทุนปล่อยกู้

Q1 ธพว.ปล่อยสินเชื่อเข้าเป้า 1 หมื่นล. ยกระดับสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง “เอสเอ็มอี”

          นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  เปิดเผยว่า ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 รวมกว่า 10,000 ล้านบาท  เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และมั่นใจว่า ภายในปีนี้ สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 60,000 ล้านบาท   เนื่องจากธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ถูกใจผู้ประกอบการรายย่อย
           เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่อนนาน 7 ปี  คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดา 3 ปีแรก เพียง 0.417% ต่อเดือน ปี 4-7 อัตรา MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด  2 ล้านบาท และหากเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก 3ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปี 4-7 อัตรา MLRต่อปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้   ควบคู่กระบวนการให้บริการเข้าถึงง่าย สะดวก สามารถยื่นกู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ผ่านแอปพลิเคชัน SME D Bank    และ “หน่วยรถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไวไปถึงถิ่น”  ซึ่งเป็นบริการเคลื่อนที่พบผู้ประกอบการถึงสถานประกอบการ สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ในเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

     Q1 ธพว.ปล่อยสินเชื่อเข้าเป้า 1 หมื่นล. ยกระดับสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง “เอสเอ็มอี”

   ทั้งนี้  นับตั้งแต่ต้นเมษายนที่ผ่านมา     ธนาคารดำเนินแผนทำตลาดเชิงรุก ด้วยกิจกรรม “รถม้าเติมสุข ถึงถิ่นทั่วไทย” โดยผู้บริหารระดับสูง  และพนักงาน จะแบ่งทีม เดินสายกระจายลงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทุกสัปดาห์ เพื่อแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงบริการ “3เติม” ของธนาคาร ที่จะช่วยสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ “เติมทักษะ” ผ่านกิจกรรมสัมมนาอบรมความรู้ เสริมช่องทางตลาด “เติมทุน” แนะนำสินเชื่อดอกเบี้ยถูกต่างๆ  และ “เติมคุณภาพชีวิต”  สนับสนุนผู้ประกอบการพาเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในชีวิต

 

      “จากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประกอบการแผนการตลาดเชิงรุกที่เตรียมไว้ มั่นใจว่า  ปีนี้จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ไว้วาง 60,000 ล้านบาท รวมถึง การมอบ 3 เติม จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่เอสเอ็มอีไทยได้ เพราะลูกค้า ธพว. นอกจากได้รับเงินทุนแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ และความมั่นคงในชีวิตด้วย”

        นายพงชาญ กล่าวต่อว่า ธนาคารมุ่งยกระดับการทำงานสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งเพื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็กเต็มรูปแบบ โดยจัดงบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท สร้างระบบ core banking   ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน  มาพัฒนาระบบ  ซึ่งจะใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำธุรกรรมเบ็ดเสร็จครบวงจร   โดยเริ่มพัฒนาระบบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปี

       “การยกระดับธนาคารสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยนอกระบบที่มีอยู่จำนวนกว่า 3 ล้านบาท  สามารถเข้าถึงบริการ 3 เติมของ SME D Bank ได้ทั่วถึง และสะดวกยิ่งขึ้น  ช่วยให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กเพิ่มขีดความสามารถ  ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน นำสังคมไทยอยู่ดีมีสุข เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” นายพงชาญ ระบุ

Q1 ธพว.ปล่อยสินเชื่อเข้าเป้า 1 หมื่นล. ยกระดับสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง “เอสเอ็มอี”

          นอกจากนั้น ธนาคารเร่งบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) โดยให้บริษัทติดตามหนี้มืออาชีพ มาทำหน้าที่ติดตามหนี้ในรายลูกค้าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับธนาคาร และเป็นหนี้เสียมายาวนาน   โดยใช้วิธีแบ่งผลกำไรกัน ช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้  รวมถึง  ทยอยขายทอดตลาดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหยุดดำเนินกิจการ เลิกกิจการ ประวิงเวลาการชำระหนี้ หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้  ส่วนมากเป็นรายใหญ่ มีดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงสี สนามกอล์ฟ เป็นต้น  ซึ่งการขายหนี้เสียออกไปนั้น จะก่อประโยชน์ต่อธนาคาร  สามารถระดมเงินทุน เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ รวมถึง ช่วยลดหนี้เสีย ซึ่งภายในปีนี้ คาดว่า จะเหลือไม่เกิน  10% ช่วยให้สถานะทางการเงินของธนาคาร มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก

          อีกทั้ง ธนาคารเตรียมแผนออกพันธบัตรต่อเนื่องในปี 2562 เพื่อระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ  โดยจะออกครั้งละ 5,000 ล้านบาท  จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท  เชื่อว่า จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับธนาคารได้รับจัดอับดับเรตติ้งองค์กร จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระดับ AAA ถือเป็นระดับสูงสุดเท่ากับเรตติ้งของรัฐบาลไทย