KEY
POINTS
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมยังคงเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งตั้งเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ แต่ขณะนี้ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย อื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีการปรับปรุงกฎหมายฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งสอดรับกับร่างกฎหมายตั๋วร่วมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่....) พ.ศ. .... ตามขั้นตอนจะเข้าสู่การเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1-วาระที่ 3 ตามลำดับ คาดว่าจะสามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้ทันภายในเดือนกันยายนนี้
ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบาย 20 บาทตลอดสายนั้นจะต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วมด้วยซึ่งพ.ร.บ. ตั๋วร่วมฉบับปัจจุบันมีข้อจำกัดที่กองทุนภายใต้ พ.ร.บ. สามารถรับได้แต่เงินบริจาคเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้กู้ยืมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. รฟม.เพื่อให้กองทุนสามารถให้กู้ยืมได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2 โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าการแก้ไข พ.ร.บ. รฟม. และ พ.ร.บ. ตั๋วร่วมจะดำเนินการไปพร้อมกันเพื่อให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้กระทรวงฯ ยืนยันว่ามาตรการนี้จะใช้เงินชดเชยจากกำไรสะสมขอรฟม.เพียง 8,000 ล้านบาทต่อปี ไม่มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินเป็น 9,500 ล้านบาท อย่างที่เป็นข่าวแน่นอน
อย่างไรก็ดีในระหว่างนี้กรรมาธิการยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม และการกำกับดูแล ชดเชยส่วนต่างค่ารายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทั้งหมด
สำหรับร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมนั้น โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่มีการปรับปรุง กำหนดให้รฟม.สามารถดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แก่รฟม. จัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของรฟม.ส่งเสริมและสนับสนุนให้การให้บริการรถไฟฟ้า มีความต่อเนื่องกับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถใช้ตั๋วร่วมกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่น
ในกฎหมายยังระบุอีกว่า เพื่อให้รฟม.สามารถดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้า มีความชัดเจนและสามารถนำทรัพย์สินไปจัดหาประโยชน์เพื่อก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระจากงบประมาณภาครัฐและดำเนินการตามกฎหมายตั๋วร่วมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือการให้บริการขนส่งสาธารณะของรฟม.
สาเหตุที่มีการปรับปรุงร่างกฎหมาย รฟม.ฉบับนี้ เนื่องกฎหมายฉบับเดิมตามมาตรา 65 ไม่ได้กำหนดรายละเอียดถึงรายได้สะสมของรฟม.และวิธีดำเนินการจัดการระบบตั๋วร่วม ทำให้กฎหมายฉบับเดิมอาจไม่สอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รวมถึงมีการปรับปรุงมาตรา 75 ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงการหักรายได้ของรฟม.ก่อนนำส่งคลัง ให้รวมถึงภาระต่างๆ เงินสำรอง เงินสมทบททุนกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์เงินลงทุน ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลังกำหนดให้รวมถึงเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการบริหารตั๋วร่วมในบริการขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟฟ้า โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายและส่งเงินคืนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของครม.
ขณะเดียวกันตามกฎหมายเดิมรายได้ที่รฟม.ได้รับจากการดำเนินการใน 1 ปี ให้ตกเป็นของรฟม.สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
นอกจากนี้ในกฎหมายยังรวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมให้รฟม.ต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.ก่อนจึงจะดำเนินการได้ เช่น การกู้ยืมเงินเกินกว่า 500 ล้านบาท ตามกฎหมายเดิมสามารถกู้ยืมได้เกินกว่า 100 ล้านบาท การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 500 ล้านบาท จากเดิมสามารถกำหนดเพียงจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
หากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับสามารถผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภาฯแล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต้องทันภายในกันยายนนี้ ตามที่รับปากไว้กับประชาชน!!
วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,099 วันที่ 25 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568