KEY
POINTS
ปัจจุบัน “กทพ.” หรือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยังคงยืนยันว่าในปีนี้ “ทางด่วนสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา” ถือเป็นโปรเจ็กต์เรือธงที่ใช้งบประมาณจากภาครัฐสามารถเดินหน้าหาผู้ชนะการประมูลได้ภายใน 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ –ลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. วงเงินลงทุนราว 24,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่ได้มาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย
เงินงบประมาณ 3,727 ล้านบาท เงินจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFFIF) 14,373 ล้านบาท และเงินจากพันธบัตรรัฐบาล 5,884 ล้านบาท
ที่ผ่านมากทพ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างงานกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเอกชนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ตามแผนคาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี
ส่วนงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคาภายใน 1-2 ปี หลังจากเริ่มก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ ตามแผนกทพ.จะเร่งรัดให้เอกชนเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 ซึ่งเร็วกว่าสัญญาที่กำหนดให้เปิดบริการภายในปี 2571
ขณะที่ความคืบหน้าการเวนคืนที่ดินโครงการนั้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม, แขวงสามวาตะวันตก สามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ และตำบลลาดสวาย บึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ…. เพื่อก่อสร้างทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา นั้น
ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) อยู่ระหว่างนำร่าง พ.ร.ฎ. เวนคืนฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศราชกิจจามีผลบังคับใช้ ก่อนดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อไป
ส่วนพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 471 ไร่ 99 ตารางวา ซึ่งมีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,726 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืน 2,915.59 ล้านบาท และค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกผลกระทบอีก 134 หลัง วงเงินรวม 811.22 ล้านบาท
ทั้งนี้อัตราค่าเวนคืนดังกล่าวใช้ราคาประเมินเมื่อปี 2564 ในการคำนวณ ด้านการก่อสร้างโครงการฯ เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ตั้งแต่ทางพิเศษฉลองรัช บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติ
มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 0+000 ของโครงการฯ ถึง กม. 14+000 ของโครงการฯ ระยะทางประมาณ 16.21 กิโลเมตร รวมทางขึ้น-ลง
สำหรับโครงการทางพิเศษ ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 19,837 ล้านบาท โดยมีราคากลาง 18,739 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 495 ล้านบาท เมื่อโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา พร้อมเปิดให้บริการคาดว่าจะมีปริมาณจราจรเกือบ 40,000 คันต่อวัน โดยมีอัตราค่าผ่านทางเริ่มต้น 20 บาท สูงสุด 45 บาท
ทั้งนี้แนวเส้นทางของโครงการทางพิเศษฉลองรัชฯ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่
แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,088 วันที่ 17 - 19 เมษายน พ.ศ. 2568