กระทุ้งรัฐเร่งลงทุน ลุย 13 เมกะโปรเจ็กต์เบิกจ่าย 2.4 แสนล้าน ปี68

19 ก.พ. 2568 | 05:30 น.
703

ลงทุนภาครัฐยังต่ำ ดันจีดีพีประเทศขยับช้า สภาพัฒน์แนะเร่งเบิกจ่าย ด้าน “คมนาคม” เข็น 13 บิ๊กโปรเจ็กต์ แตะ 7.8 แสนล้านบาท ชงครม.-ประมูล สิ้นก.พ.ถึงต้นมี.ค.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ กางแผนเบิกจ่ายงบ 68 แตะ 2.4 แสนล้าน Q1 เบิกจ่ายพุ่ง 3.9 หมื่นล้านบาท

KEY

POINTS

  • ลงทุนภาครัฐยังต่ำ ดันจีดีพีประเทศขยับช้า สภาพัฒน์แนะเร่งเบิกจ่าย
  • ด้าน “คมนาคม” เข็น 13 บิ๊กโปรเจ็กต์ แตะ 7.8 แสนล้านบาท ชงครม.-ประมูล สิ้นก.พ.ถึงต้นมี.ค.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
  • กางแผนเบิกจ่ายงบ 68 แตะ 2.4 แสนล้าน Q1 เบิกจ่ายพุ่ง 3.9 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมก่อสร้างหนึ่งในเฟืองจักรสำคัญที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ที่ผ่านมากลับพบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ฉุดให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ จีดีพีขยายตัวได้อย่างจำกัด

ขณะการตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยต้องการให้จีดีพี ประเทศขยายตัวได้ถึง5% ที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เคยประกาศไว้เมื่อปี2567 แต่กลับมีตัวเลขขยายตัวได้เพียงครึ่งหนึ่งของเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภค ความไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศ

สะท้อนการแถลง ตัวเลขจีดีพี ของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทย ขยายตัว 3.2% ส่งผลทั้งปี 2567 ขยายตัว 2.5%

ขณะที่ปี 2568 คาดการณ์การขยายตัว ที่ 2.3 - 3.3% หรือ ค่ากลางที่ 2.8% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2568 ขยายตัวมากขึ้นคือ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ หรือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบลงทุนรวม ให้เป็นไปตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568 ขณะภาคเอกชนโดย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA)เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายและผลักดันโครงการขนาดใหญ่ออกมาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามปี2568 กระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัด หลายโครงการที่ค้างท่อในปี 2567 ซึ่งจะเร่งผลักดันเสนอต่อคระรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อให้โครงการเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้นายสุริยะ ยืนยันว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นเดือนก.พ.-ต้นเดือนมี.ค.2568 ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังแล้ว เหลือเพียงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นชอบ

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่จะเสนอครม.อนุมัติภายในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 654,587 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ- อุบลราชธานี ฯลฯ

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายสุริยะ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย ครั้งที่ 1/2568 เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเบิกจ่ายการประมูลให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีความกังวลถึงภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2568 ที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังต่ำกว่าแผนทุกกระทรวง รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดีกระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2568 วงเงิน 244,576 ล้านบาท โดยภาพรวมการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 มีแผนการเบิกจ่ายสะสม วงเงิน 41,514 ล้านบาท คิดเป็น 16.97% และมีผลการเบิกจ่ายสะสม วงเงิน 39,857 ล้านบาท คิดเป็น 16.30% ช้ากว่าแผน 1,656 ล้านบาท คิดเป็น 0.67%
 
ขณะเดียวกันได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบลงทุน วงเงิน 212,213 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 มีแผนการเบิกจ่ายสะสม วงเงิน 28,598 ล้านบาท คิดเป็น 13.48% และมีผลการเบิกจ่ายสะสม วงเงิน 28,081 ล้านบาท คิดเป็น 13.23% ช้ากว่าแผน 516 ล้านบาท คิดเป็น 0.25%
 
ส่วนการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ วงเงิน 32,363 ล้านบาท โดยภาพรวม ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 มีแผนการเบิกจ่ายสะสม วงเงิน 12,930 ล้านบาท คิดเป็น 39.96% และมีผลการเบิกจ่ายสะสม วงเงิน 11,776 ล้านบาท คิดเป็น 36.39% ช้ากว่าแผน 1,154ล้านบาท คิดเป็น 3.57%
 

 ทั้งนี้ผลเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ในส่วนราชการ จำนวน 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, กรมเจ้าท่า, กรมการขนส่งทางบก, กรมท่าอากาศยาน , กรมทางหลวง , กรมทางหลวงชนบท, สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, กรมการขนส่งทางราง ,สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง โดยเบิกจ่ายไปแล้ว 21,786 ล้านบาท คิดเป็น 11.27%

 ด้านรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), สถาบันการบินพลเรือน, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เบิกจ่ายไปแล้ว 18,071 ล้านบาทคิดเป็น 35.28% รวมทั้ง 15 หน่วยงานมีการเบิกจ่ายอยู่ที่ 39,857 ล้านบาท คิดเป็น 16.30%

กระทุ้งรัฐเร่งลงทุน ลุย 13 เมกะโปรเจ็กต์เบิกจ่าย 2.4 แสนล้าน ปี68
 
สำหรับโครงการที่กระทรวงคมนาคมเร่งรัดเปิดประมูลภายในปี 2568 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 125,496 ล้านบาท 1.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ -ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ระยะทาง 6.7 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท 2.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้- ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท 

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 (มอเตอร์เวย์ M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน มูลค่าลงทุน 31,358 ล้านบาท

4.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานครตอนทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม.วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท 5.โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ฯ ระยะทาง 8.84 กม. มูลค่าลงทุน 6,473 ล้านบาท