ร่างกฎ ก.พ. ใหม่ “เพิ่มเงินประจำตำแหน่ง” ข้าราชการ สูงสุด 5,600 บาท

09 มิ.ย. 2568 | 05:57 น.
32.8 k

ร่างกฎ ก.พ. ฉบับใหม่ “เพิ่มเงินประจำตำแหน่ง” ข้าราชการ อีกหนึ่งสายงาน โดยจะได้รับเงินประจำตำแหน่งสูงสุด 5,600 บาทต่อเดือน หลังครม.อนุมัติ เช็ครายละเอียดทั้งหมดที่นี่

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

เพิ่มเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ

ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ ก.พ. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2567 

โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ สายงานฟิสิกส์การแพทย์ (นักฟิสิกส์การแพทย์) เป็นสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการเพิ่มใหม่ในสายงานฟิสิกส์การแพทย์ ตำแหน่งนักฟิสิกส์การแพทย์ (สายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลุ่มงานวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์)

สำหรับการกำหนดให้นักฟิสิกส์การแพทย์ได้รับเงินประจำตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านฟิสิกส์การแพทย์ไว้ในระบบ เพื่อปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ทางฟิสิกส์การแพทย์ร่วมกับแพทย์ เช่น

การคำนวณปริมาณรังสี วัดความแรงรังสี การใช้เครื่องรังสีที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีระดับสูงและยังทำให้บุคลากรได้สั่งสมความรู้ความเชี่ยวชาญตรงตามสาขาที่ศึกษา ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งได้รับบริการที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

อัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ

สายงานฟิสิกส์การแพทย์ (นักฟิสิกส์การแพทย์) เป็นสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ดังนี้

  • ระดับชำนาญการ ในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน 
  • ระดับชำนาญการพิเศษ ในอัตรา 5,600 บาทต่อเดือน 

หน้าที่ของนักฟิสิกส์การแพทย์

“นักฟิสิกส์การแพทย์” มีหน้าที่วางแผนการรักษาและการคำนวณปริมาณรังสีตามที่แพทย์กำหนดในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยเครื่องฉายรังสีในโรงพยาบาลและสถานบริการทางการแพทย์ 

รวมถึงทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้รังสี ต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีระดับสูง 

ทั้งนี้ ลักษณะงานของ นักฟิสิกส์การแพทย์และนักรังสีการแพทย์แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ นักรังสีการแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยเหมาะกับการรักษาโดยใช้เครื่องฉายรังสีแบบใด ส่วนนักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้ใช้เครื่องฉายรังสีที่ต้องมีการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีความสลับซับซ้อนนั้นในการรักษาผู้ป่วย