รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร กำลังเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) เข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากผ่านการเห็นชอบจากชั้นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อย
โดยรัฐบาล ยอมรับว่า โมเดลการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณาโมเดลในการทำสถานบันเทิงครบวงจร หลายประเทศ แต่หลัก ๆ จะใกล้เคียงกับสิงคโปร์ เพราะมีโมเดลการพัฒนาที่ชัดเจนหลาย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว นั่นคือ “มารีน่า เบย์ แซนด์ส”
สำหรับมารีน่า เบย์ แซนด์ส นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวหลากหลายประเทศ ในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับธุรกิจและการพักผ่อน ดำเนินการโดย Marina Bay Sands Pte. Ltd. (MBS) บริษัทย่อยของ Las Vegas Sands มีการก่อสร้างโรงแรมหรูระดับโลก สูง 55 ชั้น 3 หอคอย โดยมีห้องพักและห้องสวีทกว่า 2,600 ห้อง กลายเป็นแลน์มาร์กสำคัญของสิงคโปร์
พื้นที่โดยรอบยังประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง สกายพาร์ค ห้างสรรพสินค้า ศุนย์ประชุมและนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวิทยาศาสตร์ สถานที่จัดคอนเสิร์ต โรงละคร และส่วนสำคัญนั่นคือ คาสิโนระดับโลก ซึ่งนับเป็นเงินรายได้ใหม่ที่เกิดขึ้นของสิงคโปร์
สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ ล็อกใบอนุญาตคาสิโนเพียง 2 ราย จนถึงปี 2031 ส่งผลให้มารีน่า เบย์ แซนด์ส ครองส่วนแบ่งการตลาดอย่างมั่นคง แต่กำลังเดิมพันเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ (136,000 ล้านบาท) เพื่อรองรับการแข่งขันระดับภูมิภาคที่ร้อนแรงขึ้น
มารีน่า เบย์ แซนด์ส รีสอร์ทแบบครบวงจรที่เป็นสัญลักษณ์ของสิงคโปร์ กลับมาทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยรายได้พุ่ง 53% และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นถึง 76.2% ในปี 2023 จากปีก่อน
แม้ว่าการผูกขาดตลาดคาสิโนในสิงคโปร์ยังอยู่ในมือของผู้ประกอบการเพียง 2 ราย แต่บริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่จากการแข่งขันในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น และต้องลงทุนอย่างหนักเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในตลาดคาสิโนที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุดในโลก โดยรัฐบาลอนุญาตให้มีผู้ประกอบการเพียงสองรายเท่านั้น คือ มารีน่า เบย์ แซนด์ส ที่ดำเนินการโดยบริษัท ลาส เวกัส แซนด์ส คอร์ป และรีสอร์ทเวิลด์ เซนโตซ่า ของเก็นติ้ง สิงคโปร์
ภายใต้ข้อตกลงการพัฒนาฉบับที่สองกับคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ระบุชัดเจนว่าจะไม่มีใบอนุญาตคาสิโนมากกว่าสองใบภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมคาสิโนจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2031 ซึ่งเป็นการรับประกันว่าทั้งสองบริษัทจะยังคงผูกขาดตลาดในประเทศอย่างน้อยอีก 6 ปี
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในระดับภูมิภาคกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีผู้เล่นรายใหม่และการขยายตัวในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นเพิ่งเปิดตลาดคาสิโนอย่างเป็นทางการ และมีข่าวลือว่าไทยอาจพิจารณาทำให้การพนันถูกกฎหมายในอนาคต
"การแข่งขันที่ร้อนแรงขึ้นในภูมิภาคอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเล่นระดับพรีเมียมออกจากสิงคโปร์ ส่งผลให้รายได้ลดลงในระยะยาว หากไม่มีการปรับตัว" ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมให้ความเห็น
เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น มารีน่า เบย์ แซนด์ส กำลังทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในการปรับปรุงและขยายทรัพย์สิน โดยมีโครงการสำคัญ 3 โครงการที่กำลังดำเนินการ ดังนี้
1.การปรับปรุงหอคอย 1 และ 2 ซึ่งใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ด้วยงบประมาณประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (34,000 ล้านบาท) เพื่อยกระดับห้องพักให้เป็นห้องสวีทระดับโลก
2.การปรับปรุงหอคอย 3 ด้วยงบประมาณประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,500 ล้านบาท) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025
3.โครงการขยายมารีน่า เบย์ แซนด์ส ซึ่งจะรวมถึงหอคอยโรงแรมใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวบนดาดฟ้า และสนามกีฬาในร่มความจุ 15,000 ที่นั่ง ด้วยงบประมาณขั้นต่ำ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (115,600 ล้านบาท)
การลงทุนทั้งหมดนี้อาจมีมูลค่าเกินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (170,000 ล้านบาท) ซึ่งบริษัทคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับบนและเพิ่มรายได้ในระยะยาว
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2023 มารีน่า เบย์ แซนด์ส มีสินทรัพย์รวมมูลค่า 6,387 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (217,158 ล้านบาท) คิดเป็น 29.3% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัท ลาส เวกัส แซนด์ส คอร์ป แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสินทรัพย์นี้ต่อบริษัทแม่
ในปี 2023 มารีน่า เบย์ แซนด์ส มีรายได้รวม 3,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (130,866 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 53% จากปี 2022 โดยกิจกรรมที่สร้างรายได้มากที่สุดยังคงเป็นคาสิโน ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 70% ของรายได้ทั้งหมด
สัดส่วนรายได้ตามประเภทกิจกรรม (ปี 2023)
ที่น่าสังเกตคือ แม้รายได้จากศูนย์การค้าจะเพิ่มขึ้น 12.4% แต่สัดส่วนต่อรายได้รวมกลับลดลงจาก 9.0% เป็น 6.6% เนื่องจากเติบโตช้ากว่ารายได้โดยรวมที่เพิ่มขึ้น 53.0%
ในภาพรวมของบริษัท ลาส เวกัส แซนด์ส คอร์ป มารีน่า เบย์ แซนด์ส มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 37.1% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท (10,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 352,648 ล้านบาท) โดยมีสัดส่วนรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 58.9% ของรายได้ประเภทนี้ทั้งหมดของบริษัท
มารีน่า เบย์ แซนด์ส เป็นผู้จ่ายภาษีรายใหญ่ให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งมีภาระภาษีหลายประเภท โดยในปี 2023 มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสำคัญดังนี้
นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,802 ล้านบาท) ในปี 2022 เพื่อต่ออายุใบอนุญาตที่จะหมดอายุในเดือนเมษายน 2025 และภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 17%
การเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีเหล่านี้ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ได้รับส่วนแบ่งจากความสำเร็จของมารีน่า เบย์ แซนด์ส มากขึ้น ขณะที่บริษัทยังคงสามารถรักษาผลกำไรที่แข็งแกร่งได้
การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียหลังโควิด-19 สร้างโอกาสให้กับมารีน่า เบย์ แซนด์ส แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายหลายประการ
โอกาส
1.จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 6.3 ล้านคนในปี 2022 เป็น 13.6 ล้านคนในปี 2023 (เพิ่มขึ้น 115.8%) แต่ยังต่ำกว่าปี 2019 ประมาณ 28.8%
2.การยกเลิกมาตรการควบคุมชายแดนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ส่งผลให้การเข้าชมมารีน่า เบย์ แซนด์ส เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3.การปรับปรุงและขยายโครงการจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวและนักเล่นระดับพรีเมียม
ความท้าทาย
1.การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจากการพัฒนาใหม่ๆ ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
2.ความล่าช้าในโครงการขยายมารีน่า เบย์ แซนด์ส เนื่องจากโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
3.เงินเฟ้อและต้นทุนวัสดุและแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อโครงการก่อสร้างและการดำเนินงาน
4.การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19
บริษัทกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญหลายประการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในระยะยาว
1.การเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบ การเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีคาสิโนและ GST ในปี 2022-2023 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์พร้อมที่จะปรับนโยบายเพื่อรับส่วนแบ่งจากผลกำไรที่เพิ่มขึ้น
2.ต้นทุนโครงการที่เพิ่มขึ้น บริษัทระบุว่าต้นทุนโครงการขยายมารีน่า เบย์ แซนด์ส อาจสูงกว่าประมาณการเดิมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเงินเฟ้อและต้นทุนวัสดุและแรงงานที่เพิ่มขึ้น
3.การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ประเทศอื่นๆ ในเอเชียกำลังพัฒนาโครงการคาสิโนรีสอร์ทขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเล่นพนัน
4.ความผันผวนทางเศรษฐกิจ รายได้จากคาสิโน โรงแรม และการประชุมเป็นการใช้จ่ายแบบไม่จำเป็น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
5.เหตุการณ์ภัยพิบัติหรือการระบาดของโรค ประสบการณ์จากโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้เปราะบางต่อการระบาดใหญ่และเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่นๆ
อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับมาดูโมเดลของประเทศไทย รัฐบาลมองว่า รายได้ที่จะเกิดขึ้นกับสถานบันเทิงครบวงจร จะทำเกิดการสร้าง Man-made Tourist Destination หรือสิ่งก่อสร้างใหม่ที่คนสร้างขึ้นมาแทนที่จะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สามารถสร้างเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เรื่องของการลงทุนในระดับที่ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทเพียงแค่จุดเดียว
รวมทั้งยังมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่าจุดละ 15,000-20,000 คน เช่นเดียวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง ปูน ทราย ไฟฟ้า ประปา เมื่อลงทุนเสร็จแล้ว จะเป็นเงินท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และไหลไปสู่ภาคธุรกิจอื่น ทั้งร้านอาการ และโรงแรมที่อยู่บริเวณโดยรอบอีกด้วย
ส่วนทั้งหมดจะเป็นจริงได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ณ ตอนนี้ รัฐบาลคงต้องภาวนาให้ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เสียก่อนแล้วค่อยมาว่ากันอีกที