thansettakij
ย้อนรอย คู่สัญญาตึก สตง.แห่งใหม่ ปมร้อนหลัง DSI รับเป็นคดีพิเศษ

ย้อนรอย คู่สัญญาตึก สตง.แห่งใหม่ ปมร้อนหลัง DSI รับเป็นคดีพิเศษ

02 เม.ย. 2568 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2568 | 09:00 น.

ย้อนรอย กรณีสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ ที่พังถล่มจากแผ่นดินไหว 8.2 เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ใครเป็นคนเซ็นสัญญา 2,136 ล้าน หลังจากล่าสุด DSI รับเป็นคดีพิเศษ เร่งสอบ 3 ฐานความผิด

บทเรียนราคาแพงและการตรวจสอบผู้ตรวจสอบสืบเนื่องหลังจากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ เมื่ออาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง บริเวณตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร ได้ถล่มลงอันเนื่องมาจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา เหตุการณ์นี้นำไปสู่คำถามมากมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบและการทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าว

 

สตง. คือใคร มีหน้าที่อะไร?

 

ฐานเศรษฐกิจ นำย้อนไปทำความรู้จักกับ "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" หรือ สตง. ก่อนว่า ที่นี่เป็น "องค์กรอิสระ" ที่มีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

สตง. มีประวัติอันยาวนานย้อนไปถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418

 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สตง. ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและชื่อหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้เป็นองค์กรตรวจสอบอิสระและเป็นกลาง ประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

 

ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเริ่มมีขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีทั้งหมด 4 คน ได้แก่

  • คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา (31 ธ.ค. 2544 - 5 ก.ค. 2553) - ผู้ว่าการ สตง. คนแรก
  • นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (25 ก.ย. 2557 - 25 ก.ย. 2560)
  • นายประจักษ์ บุญยัง (27 ก.พ. 2561 - 3 มิ.ย. 2567)
  • นายมณเฑียร เจริญผล (4 มิ.ย. 2567 - ปัจจุบัน)

 

ใครเป็นผู้ลงนามสัญญาก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบเพิ่มเติมกรณีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ พบว่าได้มีการลงนามก่อหนี้ผูกพันสัญญาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 โดยว่าจ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ในวงเงิน 2,136 ล้านบาท

 

และผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้างคือ นายประจักษ์ บุญยัง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในขณะที่นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. คนปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งในช่วงเวลาที่มีการทำสัญญา 

 

โดยอดีตผู้ว่าการ สตง. ประจักษ์ บุญยัง ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราหลังเกิดเหตุการณ์ว่า การว่าจ้างดังกล่าวทำอย่างโปร่งใส ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายในการประมูลการก่อสร้างอาคารของรัฐ ด้วยวิธี E-bidding โดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ได้เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลางและเสนอราคาต่ำสุด

 

เข้าสู่กระบวนการการสืบสวนโดย DSI

 

หลังเกิดเหตุอาคารถล่ม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับดำเนินการเป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือที่เรียกว่า "นอมินี" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568

 

นอกจากนี้ DSI ยังพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบความผิดในอีก 2 ฐานความผิด คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล)