thansettakij
จับตา “ทรัมป์” รีดภาษีรอบใหม่ หนุนราคาทองทำนิวไฮ แตะ 5.12 หมื่นบาท

จับตา “ทรัมป์” รีดภาษีรอบใหม่ หนุนราคาทองทำนิวไฮ แตะ 5.12 หมื่นบาท

01 เม.ย. 2568 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2568 | 05:15 น.

GCAP GOLD ชี้ "ทรัมป์" จ่อประกาศภาษีใหม่ ม เม.ย. กระทบราคาทองคำผันผวนมีลุ้นพุ่งทำนิวไฮ 5.12 หมื่นล้าน หลังความกังวลเศรษฐกิจไม่แน่นอน นักลงทุนหันหน้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย

นางสาวอารีรัตน์ มุราชัย นักวิเคราะห์ บริษัท จีแคป จำกัด หรือ GCAP GOLD ประเมินว่าทิศทางตลาดทองคำในสัปดาห์นี้ (31 มี.ค. - 4 เม.ย.68) ว่า ฝ่ายวิจัยมองว่าราคาทองคำยังคงเผชิญกับความผันผวน โดยแนะนำให้จับตาทิศทางทองคำหลังประกาศภาษีใหม่จาก “ทรัมป์” ในวันที่ 2 เมษายน นี้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาทองคำ

ทั้งนี้หากมีการประกาศภาษีที่รุนแรง ราคาทองคำอาจพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนอาจหันมาถือทองคำมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด ดังนั้น ประเมินว่าราคาทองคำมีทิศทางเป็นขาขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

โดย GCAP GOLD ได้ประเมินเป้าหมายของการปรับตัวขึ้นระยะสั้นเบื้องต้นไว้ที่ 3,150 / 3,200 เหรียญต่อออนซ์ และราคาทองคำไทยอาจทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) อยู่ที่ประมาณ 50,800 บาท และหากเงินบาทอ่อนค่าขึ้นเพิ่มเติมอาจจะเห็น 51,200 บาท

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางประธานาธิบดีทรัมป์ จะประกาศบังคับใช้ภาษีตอบโต้รอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการค้าอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว

โดยมองว่าจะยิ่งทำให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการ ขึ้นภาษีและการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ตามมา สิ่งที่ต้องจับตามองในมาตรการทางภาษีรอบใหม่ครั้งนี้ คือ ความเข้มข้นของภาษีตอบโต้จะมากน้อยเพียงใด และจะครอบคลุมสินค้าหรืออุตสาหกรรมใดบ้าง และการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ทรัมป์" รีดภาษี หนุนราคาทองสัปดาห์นี้มีลุ้นทำนิวไฮ "ทรัมป์" รีดภาษี หนุนราคาทองสัปดาห์นี้มีลุ้นทำนิวไฮ

แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของการตอบโต้จะขึ้นอยู่กับระดับภาษีที่สหรัฐฯ ประกาศ และความพร้อมของแต่ละประเทศในการปกป้องเศรษฐกิจของตน อาทิ

  • จีนอาจจะเลือกตอบโต้ด้วยภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • สหภาพยุโรปอาจตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเครื่องบินพาณิชย์
  • เอเชียและประเทศเกิดใหม่ กลุ่มประเทศเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก ทำให้บางประเทศอาจเลือกตอบโต้ด้วยมาตรการที่ส่งผลต่อบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ

โดยกลุ่มประเทศ “Dirty 15” รายชื่อเบื้องต้นประกอบด้วย จีน เยอรมนี เม็กซิโก ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ แคนาดา และอิตาลี ประเทศเหล่านี้มีดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นบวกอย่างมาก ซึ่งหมายความว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากกว่าการนำเข้า จึงตกเป็นเป้าหมายของมาตรการภาษีใหม่