นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา ECONOMIC DRIVES 2025 เรื่อง “เศรษฐกิจไทย ความท้าทาย และโอกาส” จัดโดย โพสต์ทูเดย์ ว่า ประเทศไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด
และวันนี้เรายังเป็นประเทศที่ช้าที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก อยู่อันดับ72 ที่พ้นออกมาจากโควิด นั่นหมายความว่า โครงสร้างของประเทศ และสุญญากาศ สภาพการเมือง วิธีจัดการช่วง 4-5 ปีที่แล้วต้องมีอะไรบางอย่าง ทำให้ประเทศฟื้นตัวกลับมาได้ช้า
โดยช่วงที่คนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และรายได้ก็หายลงไป สิ่งตามมาคือ มีการกู้เงิน และเมื่อพ้นจากช่วงโควิด เราพบว่า ความอ่อนแอที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้ามีโควิด และมาเจอกับการกู้เงินอย่างมากเข้าไปช่วง 3 ปี ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนแตะ 90% ถือเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ที่จะหน่วงประเทศไทยในระยะยาว ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
นอกจากนี้ พบว่าเศรษฐกิจด้านบนขนาดใหญ่ เป็นตัวเลขที่พาให้สัดส่วนเศรษฐกิจไม่แย่เกินไป แต่ข้อเท็จจริงอีก 60% ของคนส่วนใหญ่ยังเดือดร้อนอย่างมาก ดูแล้วยังมองไม่เห็นแสงสว่างมากนัก ทั้งนี้ มองว่าสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ เพื่อให้ประเทศพ้นแรงหน่วงขนาดใหญ่ จะต้องดูแลทั้งระยะสั้น กลาง และยาว
สำหรับการเติบโตของระบบสถาบันการเงินในปี 2567 ที่ผ่านมา แทบไม่มีเลย ขณะที่ลูกค้าขนาดใหญ่ยังมีการเติบโต ขณะที่ลูกค้าเอสเอ็มอี รายย่อยไม่มีการเติบโตเลย นั่นหมายความว่า ลูกค้าตึงมือ ภาระวนลูปยังเกิดขึ้น ทำให้ความสามารถในการจับจ่าย มีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และส่งทอดไปยังแวลูเชน
นายอาทิตย์ กล่าวว่า จากการดูศักยภาพที่ประเทศมี ภายใต้การกระตุ้นเยียวยา และปรับปรุงทั้งระยะสั้น และยาว หากมองเรามีหนี้ครัวเรือนไทย 90% สัดส่วนหนี้สาธารณะกว่า 60% จากกรอบเพดาน 70% ซึ่งแปลว่ามีพื้นที่น้อยมาก
ขณะที่ประชาชนมีรายได้ถ่ายทอดไปสู่ภาษีที่ไม่ขยายตัว ถือเป็นจุดอับ สิ่งที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้อย่างรุนแรง มองว่า กรอบวินัยทางการเงินการคลัง ควรจะขยับขึ้นไปอีกชั่วคราว และระบุเวลาว่ากี่ปี เพื่อนำมาใช้ในโครงการตามมา
ทั้งนี้ ได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น การเช่า 99 ปี สถานบันเทิงครบวงจร ภาษีที่เก็บได้ หากนำไปเข้าระบบงบประมาณ งบเหล่านั้นถูกละลายไปกับงบประมาณประจำ ซึ่งรัฐควรจะทำให้ตอบโจทย์ประชาชนได้ เช่น นำไปสู่เรื่องสาธารณูปโภค สวัสดิการลดภาระหนี้ที่ทุกคนมีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นรูปธรรมจริง
ขณะที่หลายเรื่องต่างๆ ที่ได้ฟังแนวนโยบายของรัฐบาล เช่น ภูเก็ตแซนบ็อก อื่นๆ ถือเป็นเรื่องเซ็กซี่ และจะมักมีเสียงที่ต่อต้านว่าเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้น จึงมองว่า รัฐบาลควรทำเรื่องที่เซ็กซี่น้อยลง เช่น การแก้ปัญหาน้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง และรถไฟขนสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ มองว่าการส่งผ่านเรื่องสวัสดิการ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ แทนที่จะเอาเงินไปสนับสนุนอย่างเดียว ควรไปดูแลเรื่องหนี้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีภาระที่เบาลง มองว่ามีความจำเป็นต่อปี 2568 และสิ่งที่เราเผชิญ หากมีโอกาสขับเคลื่อน มองว่าจุดเริ่มต้นควรแก้ปัญหาส่วนนี้ก่อน
“ปัญหาที่เราเผชิญนั้นใหญ่ ทั้งภายในและภายนอก เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาให้จีดีพีโตขึ้นอีก 2-3% แล้วประเทศจะผงกหัวได้ ซึ่งมองว่าไม่ได้ และมองว่าควรใช้ศักยภาพของตัวเอง ไปจุดที่เพิ่มสัดส่วนวินัยการเงินการคลัง และกำหนดว่าควรจะนำเม็ดเงินเหล่านั้นไปอยู่ส่วนใด เช่น การดูแลระยะสั้น หรือการดูแลระยะยาว เพื่อปรับปรุงและสร้างใหม่ เป็นต้น”
ด้านนายสันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้าน Future Economy สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องหาโอกาสหาทางออกจากโลก และนำโลกเข้ามาสู่ไทย จากความขัดแย้งสงครามการค้า นโยบายของสหรัฐ และยังมีเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งความยั่งยืนต่างๆ ที่ไทยต้องหาโอกาส
ซึ่งแม้ว่าสหรัฐอาจไม่ต้องกำแพงภาษี หรือปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย แต่ในเมื่อจีนสามารถผลิตกำลังการผลิตเหลือ ทำให้สินค้าทุกอย่างในจีนที่ผลิตออกมาเกินกำลัง ส่งผลให้สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทย เพราะไม่สามารถเข้าสหรัฐได้ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและเอสเอ็มอีไทย
“หลังจากนี้ สินค้าจีนเข้าสหรัฐไม่ได้ ก็จะเข้ามาไทยเยอะขึ้น และเข้ามาในอาเซียนเยอะขึ้น ทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นไปอีก แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาส สิ่งที่เห็นคือการโยกย้ายการลงทุนจากจีนเข้ามาอาเซียน และมาไทย โดยไทยโดดเด่นมากคือการดึงดูดคนเก่ง คนมีความสามารถ และต้องปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีและเอไอ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลง”