นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า โอกาสของไทยในการก้าวสู่ศูนย์กลางทางการเงินของโลกอาจเกิดขึ้นได้ภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้าพร้อมกับการเดินหน้าสู่ประเทศรายได้สูงพัฒนาแล้ว ต้องใช้ความมุ่งมั่นดำเนินการอย่างจริงจังและมีความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย
เริ่มต้นต้องผลักดันให้มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการบริการการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์มีแนวทางชัดเจนในการพัฒนาเงินบาทให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคเอเชีย ปฏิรูปและปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุน เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและภาคการลงทุน
รวมถึงระบบการเงินแบบกระจายศูนย์การเงินแบบดิจิทัล เตรียมพร้อมและพัฒนาบุคลากรทักษะขั้นสูงในภาคการเงินและการลงทุน ยกระดับและพัฒนาตลาดการเงินตลาดทุนของประเทศสู่มาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนด้วยมาตรฐานธรรมาภิบาลสากล ระบบการเงินและการลงทุนที่โปร่งใสจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั่วโลก
ส่วน ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางกฎระเบียบพัฒนาระบบนิเวศต่อการประกอบธุรกิจทางการเงินและการลงทุนใน Financial Hub ที่จะช่วยสนับสนุนให้ไทยพัฒนาสู่ศูนย์กลางทางการเงินในอนาคตได้ โดยไทยมีข้อได้เปรียบในส่วนของค่าใช้จ่ายทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ค่าเช่า ค่าครองชีพถูก เมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของโลกอย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ลอสแอนเจลีส โตเกียว ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือ ดูไบ
ไทยมีข้อจำกัดที่ยังคงต้องพัฒนาทักษะแรงงานคุณภาพสูงทางด้านการเงินและการลงทุนให้เพียงพอ หรืออาจใช้วิธีเปิดกว้างในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จากต่างประเทศมาทำงานในไทย รวมทั้งการลงทุนเพิ่มเติมทางด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบเทคโนโลยี ระบบการชำระเงิน ระบบธรรมาภิบาล ที่สามารถเทียบกับมาตรฐานของศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกได้ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องออกแบบสิทธิประโยชน์ให้จูงใจสถาบันการเงินระดับโลก
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นเฉพาะหน้า รัฐบาลไฮทยต้องจัดการกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงทางไซเบอร์ การหลอกหลวงทางการเงินผ่านขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนทั้งเมียนมา กัมพูชาและลาว ในช่วงสามปีที่ผ่านมาสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 70,000-80,000 ล้านบาท มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้สถาบันการเงิน และบริษัทบริการโทรคมนาคมร่วมรับผิดชอบความเสียหายทางการเงินกรณีถูกหลอกลวงจากอาชญากรทางไซเบอร์ การแก้กฎหมายดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินและบริษัทบริการโทรคมนาคมลงทุนเพื่อพัฒนาระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีประสิทธิภาพในการติดตามทรัพย์สินทางการเงินที่ถูกหลอกลวง ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุน หากไม่มีความมั่นใจต่อระบบความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเงิน ย่อมไม่สามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินได้
สิ่งเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การสั่งการให้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” “ก.ล.ต.” “ตลาดหลักทรัพย์” และ “บริษัทบริการโทรคมนาคม”เข้ามาร่วมจัดการระบบป้องกันการหลอกลวงและทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุนอย่างผิดกฎหมาย ผ่านระบบธนาคาร สถาบันการเงินและสถาบันการลงทุนต่างๆ และ ต้องกำหนดความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง ระบบสถาบันการเงิน กิจการบริการโทรคมนาคม เพื่อกำหนดความรับผิดชอบร่วมกันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันความเสียหายทางทรัพย์สินทางการเงินของประชาชนผู้เป็นเป้าหมายของการหลอกลวง
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราเลขสองหลักคือ 13.2% ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้แก่ เกาหลีใต้ (11.3) และสิงคโปร์ (11%)
นอกจากนี้จากตัวเลขในปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) เศรษฐกิจไทยก็มีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับ 12.2% ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราของประเทศอื่นๆ ของโลก ที่สำคัญก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่รักษาระดับอัตราความเจริญเติบโตให้อยู่ในระดับเลขสองหลักได้ (ประเทศที่ขยายตัวเร็วรองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์) โดยที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่า ถึงแม้ว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN-4 ยังเติบโตในเกณฑ์ที่สูงและน่าพึงพอใจ
แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ อัตราการเติบโตในกลุ่ม Asian NIEs มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างชัดเจนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฮ่องกง และเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราลดลงจาก 7.3% และ 11.3% ในปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) เป็น 2.5% และ 6.7% ในปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) ตามลำดับ กลุ่มประเทศ ASEAN-4 ยังคงก้าวต่อไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 โดยที่หลายฝ่ายมองว่าไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่รายต่อไปในเอเชีย
การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ การเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุน การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนและไทย การส่งออกเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของไทย ปัจจัยดังกล่าวเองทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีลักษณะเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ประเทศไทยเผชิญปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพยปัญหาหนี้เสียและความไม่โปร่งใสในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนปัญหาการส่งออกจากความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากการแข็งค่าของเงินบาทอันนำมาสู่วิกฤตการณ์เงินตราและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเนื่องจากผู้ดำเนินนโยบายการเงินยึดมั่นถือมั่นต่อระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน (แบบคงที่) ทั้งที่ระบบนี้ไม่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว
กระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกของไทยในตลาดโลก นอกจากนี้การลงทุนอย่างมหาศาลในประเทศก่อให้เกิดการผลิตต่ำกว่าความสามารถมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือจำนวนมาก (Overcapacity) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุน ที่ล้นเกิน (Overinvestment) ในช่วงเศรษฐกิจเติบโตสูง และสิ่งนี้คงถึงจุดสิ้นสุดและชะลอตัวในที่สุด
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยเคยฝันว่า จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคก่อนวิกฤติปี 2540 แต่ไปไม่ถึงเป้าหมายเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินขึ้นมาก่อน ทุกอย่างจึงสดุดลง หากสามารถเรียนรู้จากบทเรียนจากความผิดผลาดในการดำเนินนโยบายการเงินก่อนวิกฤตปี 40 ได้ดีพอและปิดจุดอ่อนให้ได้ทั้งหมด
เป้าหมายในการก้าวสู่ศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินฝัน บทเรียนที่เราสามารถสรุปได้จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 ประกอบไปด้วย