KEY
POINTS
ในการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการจากทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค กว่า 1,000 คน เข้าร่วม เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2569 เน้นการเติบโตทางประสิทธิผล ใช้จ่ายงบอย่างแม่นยำและตรงเป้าหมายโดยให้ความสำคัญ 3 ส่วน คือ
1.ไม่ลดสัดส่วนงบลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 2.ไม่เพิ่มงบดำเนินงาน เน้นเพิ่มประสิทธิผล และไม่เพิ่มงบประมาณ และ 3.ไม่เพิ่มอัตรากำลัง เน้นพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพและดูแลด้านสวัสดิการให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
“วันนี้เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ประเทศเราเจอเรื่องท้าทายมากมาย และมีความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ รัฐบาลอยากจะแก้ไขผ่านการวางแผนงบประมาณในปี 69 ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะจัดทำงบประมาณปี 69 ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดด้วย”
หาช่องดึงเงินนอกงบประมาณ
ทั้งนี้ ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2569 ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาเท่าที่จำเป็น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ และไม่สร้างรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น เพราะรายจ่ายประจำจะเป็นต้นทุนที่สะสมทุกปี หากจะมาปรับเปลี่ยนอาจต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น จึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันว่าเราจะเจาะลึกลงไปถึงการลดรายจ่ายประจำได้อย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเห็นตัวเลขส่วนนี้มีอยู่จำนวนมาก”
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเทียบเคียงกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านต่าง ๆ และขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ หรือแหล่งเงินอื่นมาใช้ดำเนินการเป็นลำดับแรก เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ เช่น เงินรายได้ เงินสะสม
เปิดที่มาเงินนอกงบประมาณ
ต่อมา นายอนันต์ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุถึงรายละเอียดของการนำเงินนอกงบประมาณมาใช้ในปีงบประมาณ 2569 ว่า นโยบายของรัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานพิจารณาแหล่งเงินอื่น นอกเหนือไปจากงบประมาณมาใช้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2569 ทั้งเงินรายได้ เงินสะสม หรือเงินที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วใช้ไม่หมด โดยสำนักงบประมาณจะประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่า หน่วยงานใดมีเงินอยู่จำนวนเท่าใด
“บางหน่วยงานอาจมีเงินของตัวเองเหลืออยู่จำนวนมาก เช่น เงินรายได้ หรือสะสมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่าง ๆ หรือ มหาวิทยาลัย หรือ เงินกองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ สำนักงบประมาณจะไปดูทุกมิติ เพราะงบประมาณรายจ่ายมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องบูรณาการทรัพยากรทุกย่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” นายอนันต์ ระบุ
เมื่อถามว่า ในส่วนของเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง หากสำนักงบประมาณ ตรวจสอบแล้วพบว่า มีวงเงินอยู่จำนวนมาก และเพียงพอต่อความต้องการใช้ สำนักงบประมาณอาจไม่จัดสรรงบให้เลยหรือไม่ ผอ.สำนักงบประมาณ ยอมรับว่า กรณีนี้สำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง หากพบมีท้องถิ่นไหนมีเงินนอกงบประมาณเพียงพอแล้ว ก็อาจไม่พิจารณาจัดสรรให้ แต่ก็ต้องดูเป็นรายกรณี
อปท.มีเงินฝาก 7.8 แสนล้าน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังราย ระบุว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เงินฝากของ อปท. ทั้งหมดมีจำนวน 787,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีงบประมาณ 2566 จำนวน 69,069 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 ประกอบด้วย 1. เงินฝากสุทธิ ของ อปท. ในระบบธนาคารจำนวน 761,190 ล้านบาท และ 2. เงินฝากคลังของ อปท. จำนวน 26,172 ล้านบาท
ขณะที่หนี้เงินกู้คงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ทั้งหมดจำนวน 39,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีงบประมาณ 2566 จำนวน 2,148 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 โดยแบ่งแหล่งเงินกู้ออกเป็น 2 แหล่ง ได้แก่ 1.หนี้จากระบบธนาคารจำนวน 10,985 ล้านบาท และ 2. หนี้จากแหล่งอื่นจำนวน 28,240 ล้านบาท
ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานรับทราบ เกี่ยวกับการจัดทำคำของบประมาณ ปี 2569 ว่าให้เสนอของบประมาณเท่าที่จำเป็น โดยมีวงเงินไม่เกิน 20% จากวงเงินที่เคยได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณก่อน เพราะจะช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการตรวจสอบได้มากขึ้น
ทั้งนี้สำนักงบประมาณจะส่งทีมงานไปหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้จัดทำคำขอได้ตรงจุดที่สุด ไม่ใช่เสนอมาเผื่อตัดเหมือนในอดีต
จี้หน่วยงานเร่งเสนอครม.ของบ
ส่วนโครงการลงทุนที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ล่าสุดมีหน่วยงานที่เสนอโครงการเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบเพียงแค่ 3-4 หน่วยงานเท่านั้น และมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ทันกำหนดในสิ้นเดือนมกราคม 2568 นี้
ดังนั้น จึงได้ประสานให้ทุกหน่วยงานที่มีโครงการผูกพันงบประมาณ เร่งเสนอเรื่องเข้าไปยังครม.โดยด่วน เพื่อให้หน่วยงานนั้น ๆ ได้บรรจุโครงการมาขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2569 ต่อไป
งบ 69 จัดสรรหนุนนโยบายรัฐบาล
สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ครม.ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณฯ จำนวน 3,780,600 ล้านบาท กำหนดรายได้รัฐบาลสุทธิ 2,920,600 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีก่อน ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2569 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2.3-3.3 หรือค่ากลาง 2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2%
สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 2569 เพื่อดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล ที่น่าสนใจ อาทิ
ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิป ชิปดีไซน์ และ Semiconductor เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต
ยกระดับศักยภาพของชุมชน ฐานชุมชนเมือง สินค้า OTOP , ส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) รวมถึงการนำคอนเสิร์ต เทศกาล การจัดประชุมนานาชาติ และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และ ทางอากาศ, ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge
ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) , การแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs อาทิ การพักหนี้ , พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
สนับสนุนให้คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง, เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและการป้องกันยาเสพติด สานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV)
กระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ “30 บาท รักษาทุกที่” ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็ก อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม
แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน, ยกระดับการบริการภาครัฐสู่ราชการทันสมัย
ปฏิรูประบบภาษี ไปสู่แบบ Negative Income Tax สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี (Underground Economy)
รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4063