คลังเรียก 15 หน่วยงานถกตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ

15 ม.ค. 2568 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2568 | 15:41 น.

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง เรียกประชุม 15 หน่วยงาน เชื่อมฐานข้อมูลป้อนสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ “NaCGA” คาดเปิดประชาพิจารณ์ภายในม.ค.68

นายเผ่าภูมิ  โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกร่างกฎหมายสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA

และหารือกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายได้ภายในมกราคม 2568 ก่อนที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ได้เรียกประชุมหารือเตรียมความพร้อมในการเชื่อมข้อมูลในการจัดตั้ง NaCGA  โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วม 15 แห่ง เช่น

คลังเรียก 15 หน่วยงานถกตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • กรมที่ดิน
  • กรมสรรพากร
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • การไฟฟ้านครหลวง
  • การประปาส่วนภูมิภาค
  • การประปานครหลวง
  • สำนักงานประกันสังคม
  • บริษัท
  • ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
  • บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลทางเลือก หรือ Alternative Data เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำค่าไฟ เงินสมทบประกันสังคม ข้อมูลทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้ NaCGA สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ได้อย่างแม่ยำ ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน สามารถได้รับเงินทุนได้ในอัตราที่เหมาะสมผ่านการค้ำประกันของ NaCGA

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมข้อมูล และร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการร่วมกันสร้างฐานข้อมูลทางการเงินที่ครอบคลุมที่สุดของประเทศทั้งในมิติของจำนวนประชากรและมิติของประเภทข้อมูล

โดยฐานข้อมูลถือเป็นปัจจัยที่นำไปสู้ความสำเร็จของ NaCGA เพื่อให้สามารถพัฒนาแบบจำลองการจัดระดับความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk Model) เพื่อให้สามารถค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบการค้ำประกันตรง โดย NaCGA จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้ตรงจุด และครอบคลุมผู้ประกอบการในทุก ๆ กลุ่ม