อัพเดท “พายุ” เข้าไทย 1-2 ลูก ปลาย ก.ย. - ต.ค.

21 ก.ย. 2565 | 18:37 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2565 | 01:38 น.
3.5 k

กนอช. เตรียมรับมือพายุเข้าไทย ปลาย ก.ย. - ต.ค. 1-2 ลูก กระทบมฝนเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน สั่งเร่งระบายน้ำด่วน แต่หากมีการผันน้ำเข้าทุ่ง จะให้ทางจังหวัดเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่งแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

อัพเดท “พายุ” เข้าไทย 1-2 ลูก ปลาย ก.ย. - ต.ค.

 

วันนี้ (21 ก.ย. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ กอนช. ครั้งที่ 3/2565 กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือน ก.ย. - ต.ค. 65 พบว่า มีแนวโน้มของปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มของร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

 

นอกจากนี้ในส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รายงานว่ามีแนวโน้มของพายุ จำนวน 1-2 ลูก ที่จะเข้ามาทางประเทศไทย โดยคาดว่าจะเข้ามาในช่วงต้นเดือน ต.ค. 65 ซึ่งจะต้องมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องที่ประชุมในวันนี้จึงได้พิจารณาร่วมกันถึงการกำหนดเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยจากการติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีประมาณ 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีในขณะที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำในอัตราประมาณ 1,980 ลบ.ม. ต่อวินาที

 

ทั้งนี้ กรณีหากมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที จะบริหารจัดการน้ำลงมายังท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และระบายออกทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา โดยพิจารณาปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักที่จะไหลเข้ามาสมทบด้วย โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีปริมาณน้ำ ณ สถานี อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งปรับลดลงจากเกณฑ์เดิมซึ่งอยู่ในอัตรา 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ลำน้ำเจ้าพระยามีศักยภาพในการระบายน้ำได้ดี สามารถรองรับการระบายน้ำออกจากชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ทุ่งรับน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 10 ทุ่ง ซึ่งก่อนการผันน้ำเข้าทุ่ง จะมีการดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีกรมชลประทานสนับสนุนข้อมูลให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาท ในการพิจารณาการผันน้ำเข้าทุ่ง และทางจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่งให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันทุ่งรับน้ำดำเนินการเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 90% โดยการเก็บเกี่ยวจะสิ้นสุดประมาณช่วงปลายเดือน ก.ย. นี้ และจะมีการรับน้ำเข้าทุ่งในปริมาณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชน

นอกจากนี้ กอนช. ได้มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาสนับสนุนการปล่อยปลาเพื่อใช้สำหรับเป็นอาหารและสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในช่วงระหว่างการรับน้ำเข้าทุ่ง และจะมีการเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว โดยจะยังคงเหลือปริมาณน้ำไว้จำหนวนหนึ่ง ตามนโยบายของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อใช้สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยต้องเป็นพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่” ดร.สุรสีห์ กล่าว

 

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพร้อมในกรณีมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก กอนช. ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ใช้การคาดการณ์จากแนวโน้มปริมาณฝนสูงสุดหรือกรณีการมีพายุจรเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ

 

ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์ของประเทศไทยว่าอยู่ในช่วงลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 20% ของค่าปกติ จึงได้มีการดำเนินงานเชิงรุกล่วงหน้า เช่น การเตรียมพร่องน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ฯลฯ โดยสถานการณ์ปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ยังสามารถรองรับน้ำได้มาก โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ทางภาคเหนือ จึงสามารถรองรับน้ำได้หากมีพายุจรเข้ามา รวมทั้งสามารถกักเก็บไว้ใช้น้ำต้นทุนสำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับ เขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก บางแห่ง ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ทาง กอนช. ได้แจ้งเตือน กรมชลประทานให้ปรับเกณฑ์เพิ่มการระบายน้ำและต้องเฝ้าระวังหากมีฝนเพิ่มขึ้น โดยจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย กอนช. จะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงและแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมในวันนี้ ได้มีการหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งสถานีสูบน้ำ คลองต่าง ๆ ฯลฯ  โดยสำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน มีการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำตลอดทุกคลองในเขตกรุงเทพมหานคร ออกสู่แม่น้ำต่างๆ

 

พร้อมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรองรับกรณีเกิดฝนตกจำนวนมาก รวมทั้งการกำจัดผักตบชวาและขยะ ซึ่ง พลเอก ประวิตร พร้อมสนับสนุนกำลังพลร่วมดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยกรุงเทพมหานคร จะมีการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมและหากต้องการได้รับการสนับสนุน จะแจ้งมายัง สทนช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป