ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 คำถามที่พบบ่อยดูรายละเอียดที่นี่

07 ก.ย. 2565 | 06:21 น.
11.4 k

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 เปิดคำถามที่ กระทรวงการคลัง พบบ่อยมากที่สุดมีอะไรบ้างดูรายละเอียดได้ที่นี่

วันที่ 7 กันยายน 2565 ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 หลังจาก กระทรวงการคลัง เปิดให้ลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ และ ออฟไลน์ เมื่อวันที่ 5 ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 กันอย่างคึกคัก กระทรวงการคลัง รายงานล่าสุด ว่า

  • มีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 4,057,960 ราย
  • โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ 3,372,108 ราย
  • และลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียน 685,852 ราย

 

สำหรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 กระทรวงการคลัง แจ้งว่าคำถามที่พบบ่อยสำหรับโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 มีดังนี้

 

คุณสมบัติและหลักเกณฑ์

สมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน ได้แก่ บุคคลใดบ้าง

  • ผู้ลงทะเบียน คู่สมรส (สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส) และบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เฉพาะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามข้อมูลของกรมการปกครอง (แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม)

 

กรณีบุตรของผู้ลงทะเบียนมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ลงทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างไร

  • ในกรณีที่บุตรของผู้ลงทะเบียนมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ลงทะเบียนสามารถกรอกเลขประจำตัวประชาชนของบุตรตามที่ปรากฏในสูติบัตร และต้องยื่นเอกสารสำเนาสูติบัตรของบุตรที่หน่วยงานรับลงทะเบียนพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

 

ผู้ลงทะเบียนต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นับอย่างไร

  • ผู้ลงทะเบียนจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปนับถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับลงทะเบียน (19 ตุลาคม 2565)

 

ผู้ลงทะเบียนมีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี และเกิน 18 ปี ต้องระบุข้อมูลอย่างไร

  • ระบุข้อมูลในแบบฟอร์มเฉพาะบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับลงทะเบียน (วันที่ 19 ตุลาคม 2565)

 

บุตรของผู้ลงทะเบียนจะต้องลงนามในแบบฟอร์มอย่างไร

1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุเกินกว่า 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 19 ต.ค. 65 ให้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง

2. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 10 ปีบริบูรณ์นับถึงวันที่ 19 ต.ค. 65 ให้ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนบุตร

 

ผู้ถือบัตรสวัสดิการปัจจุบัน ต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่

  • ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงทะเบียนใหม่ทุกคน ทั้งผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบัน และผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

 

โครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565

 

 

หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว จะต้องลงทะเบียนทั้งสามี และภรรยาหรือไม่ และจะได้รับสิทธิคนละสิทธิใช่หรือไม่

  • การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เป็นการลงทะเบียนเป็นรายบุคคล และตรวจสอบรายบุคคลและครอบครัว โดยมีขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนว่าผ่านตามเกณฑ์หรือไม่

ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาคุณสมบัติตามเกณฑ์ของครอบครัว (กรณีที่ผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว)

  • ดังนั้น หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว สามารถลงทะเบียนได้ทั้งสามี และภรรยา ทั้งนี้ หากสามี และภรรยาผ่านการตรวจสอบคุณสมบติก็จะได้รับสิทธิคนละ 1 สิทธิ

 

หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว แต่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสหรือบุตรให้มาลงทะเบียนที่จุดรับลงทะเบียนหรือลงลายมือชื่อในเอกสารได้ต้องดำเนินการอย่างไร

  • แบบฟอร์มลงทะเบียนจะต้องมีการลงนามที่ครบถ้วนหากมีครอบครัว (คู่สมรสและ/หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องลงนามทุกคนให้ครบถ้วน ทั้งนี้ คู่สมรสและ/หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนพร้อมกับผู้ลงทะเบียน แต่จำเป็นต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตรพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาพร้อมกับแบบฟอร์มลงทะเบียน

คนกลุ่มใดบ้างที่สามารถมอบอำนาจได้ และใช้เอกสารอะไรบ้าง

  • บุคคลที่สามารถมอบอำนาจสำหรับการลงทะเบียน ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องมีเอกสารประกอบการลงทะเบียน ดังนี้

1. หนังสือมอบอำนาจ (สำหรับผู้ลงทะเบียนที่เป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง)

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน (ผู้มอบอำนาจ) พร้อมลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง

3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง

4. สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)

ใครต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม ในกรณีที่มีหนังสือมอบอำนาจจากผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง

  • ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลงนามในแบบฟอร์มลงทะเบียน ซึ่งผู้ลงทะเบียนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง

 

กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ และหากต้องการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯสามารถลงทะเบียนได้หรือไม่ และถ้าหากลงทะเบียนได้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนว่ามีครอบครัวหรือไม่

  • ผู้ลงทะเบียนที่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายประเทศไทย คู่สมรสจะต้องขอ "บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย" หรือบัตรต่างด้าว ที่เขต/อำเภอ เพื่อให้คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ มีข้อมูลเลข 13 หลัก เพื่อใช้สำหรับลงทะเบียน.

 

ที่มา:โครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 2565