“ทอท.” กางแผนศึกษาบริหาร 3 สนามบิน โกยรายได้แตะ 5 หมื่นล้าน

05 ก.ย. 2565 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2565 | 20:10 น.

“ทอท.” เปิดแผนศึกษาบริหาร 3 สนามบิน แทนทย. คาดรายได้แตะ 5 หมื่นล้าน เคาะโปรลดราคา 95%-เร่งปั๊มผู้โดยสาร คิดค่าบริการตามมาตรฐาน ICAO ขึ้นแท่นฮับการบินในอนาคต

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ AOT รับริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานได้แก่ กระบี่ อุดรธานีและบุรีรัมย์ ระบุว่า การโอน 3 สนามบินเป็นยุทธศาสตร์การขนส่งทางอากาศของกระทรวงคมนาคมเพื่อพัฒนาศูนย์กลางการบินของประเทศ (Hub) เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านฝั่ง สปป.ลาว-กัมพูชา สอดรับกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเห็นการเชื่อมต่อระบบขนส่งในรูปแบบเกทเวย์ต้อนรับการเดินทางจากประเทศเพื่อนบ้าน ทอท.เชื่อว่าภายใต้ระยะเวลาของสิทธิ์การบริหาร 30 ปี จะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลราว 49,000-50,000 ล้านบาท เป็นผลตอบแทนคืนในรูปแบบภาษีและเงินปันผลตามสัญญาที่รัฐกำหนด อีกทั้งยังมีความคล่องตัวด้านการลงทุนที่ไม่ต้องรองบประมาณรายปีของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

 

 

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความพร้อมของ AOT ที่ถือครองสัดส่วนผู้โดยสารทางอากาศอยู่มากถึง 85% ด้วยปริมาณผู้โดยสารสูงสุด 142 ล้านคน/ปี ประกอบกับมีความพร้อมทางเงินลงทุน ด้วยข้อได้เปรียบของศักยภาพในการควบคุมดีมานด์จึงทำให้ AOT สามารถให้สิทธิประโยชน์ (Incentive) เพื่อจูงใจในการเดินทางและเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่สนามบินปลายทางได้ ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิพิเศษลดค่าธรรมเนียมลง 95% ในปีแรก สำหรับค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ให้กับสายการบินใหม่ที่จะทำการเปิดเส้นทางใหม่มายังสนามบินของ AOT ถือเป็นความร่วมมือของสนามบินกับสายการบิน โดยใช้ค่าธรรมเนียมบริการสนามบินมาทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปดังกล่าว ดังนั้นด้วยข้อได้เปรียบทางดีมานด์ AOT จึงมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือแคมเปญการตลาด (Marketing campaign) มากระตุ้นยอดผู้โดยสารที่สนามบินใหม่ที่รับโอนมาได้

 

 

ทั้งนี้จากการศึกษาของ AOT พบว่าท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีอุปสงค์เงา (Shadow demand) สัดส่วนมากถึง 20% ซึ่งอุปสงค์ดังกล่าวคือจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการบินตรงไปยังสนามบินปลายทางทั้งสามแห่ง แต่ยังคงต้องเสียเวลามาต่อเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ

นายนิตินัย กล่าวถึง กรณีข้อสังเกตุในกรณีที่รับโอน 3 สนามบินแล้วจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมสนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) แพงขึ้น ระบุว่า การรับโอน 3 สนามบินจะทำให้ค่า PSC ถูกลงเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนกันหลายสนามบิน เช่น ชาวต่างชาติจะเดินทางจากจังหวัดอุดรธานีไปยังยุโรป สามารถบินตรงกลับไปได้เลยโดยไม่ต้องไปเสียเวลาต่อเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากจะสะดวกสบายแล้วยังเสียค่า PSC แค่ครั้งเดียวอีกด้วย 

 

“ทอท.” กางแผนศึกษาบริหาร 3 สนามบิน โกยรายได้แตะ 5 หมื่นล้าน


นอกจากนี้การกำหนดค่า PSC ยังต้องอิงมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งกำหนดให้สนามบินต้องคิดค่าบริการตามต้นทุนในรูปแบบที่ไม่มีกำไรมากนัก ประกอบกับประเทศไทยมีหน่วยงานกลางของรัฐบาลอย่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำกับดูแลอีกชั้นนึงด้วย ดังนั้นไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารสนามบินจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ต้องแจกแจงต้นทุนบริหารเพื่อยึดเป็นแนวทางการคำนวณค่า PSC เช่นเดียวกัน
 

“การพัฒนาท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานการบินสากลเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณลงทุนสูงเพื่อให้สามารถรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศได้ มาตรฐานสนามบินที่ดีขึ้นจึงมาพร้อมค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทอท.จึงมีความพร้อมด้านเงินทุนและเครื่องมือในการบริหาร สามารถเริ่มพัฒนาสนามบินได้โดยไม่ต้องรองบประมาณของรัฐบาล อีกทั้งยังนำส่งผลตอบแทนกลับเข้าแผ่นดินในรูปแบบภาษีและเงินปันผลตามสัญญาที่รัฐกำหนด” 

 

 

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า การโอน 3 สนามบินเป็นไปตามยุทธศาสตร์แนวทางพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายร่วมตัดสินใจ อาทิ กพท. สำนักงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งภาพรวมมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีสนามบินที่เป็น Hub ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาให้สามารถรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการลดความแออัดภายในสนามบินหลัก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำไม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาลงทุนก็ตาม ปัจจุบันน่านฟ้าที่อีสานมีที่ว่างเพียง2แห่ง คือ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดอุดรธานี จึงมีศักยภาพจะพัฒนาเป็นเกทเวย์เพื่อยกระดับไปสู่ฮับการบินในอนาคต