จับตา “ประกันภัยอุบัติเหตุชาวสวนยาง” 1.7 ล้านราย กลิ่นตุ

14 ส.ค. 2565 | 18:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2565 | 01:55 น.
2.3 k

“ประกันภัยอุบัติเหตุชาวสวนยาง” บอร์ด กยท. เดือด ส่งสัญญาณ เกษตรกรชาวสวนยาง 1.7 ล้านราย กลิ่นตุ ไม่ชอบมาพากล จับตาประชุมบอร์ด วันพรุ่งนี้ จะเลือกบริษัทไหน ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม หรือเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เป็นการจ่ายช่วยค่าทำศพให้เกษตรกรชาวสวนยางทุกกรณี รายละ 4 หมื่นบาท

จับตา “ประกันภัยอุบัติเหตุชาวสวนยาง” 1.7 ล้านราย กลิ่นตุ

 

นายสุนทร รักษ์รงค์  กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 มีการเสนอราคาการทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 1.7 ล้านราย มี 6 บริษัทยื่นราคา ที่ผ่านตาม TOR มีแค่ 2 บริษัท และราคาต่ำสุด 238 บาท ต่อราย รวมเงินค่าเบี้ยประกัน 406 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่างบประมาณที่การยางแห่งประเทศไทยตั้งกรอบวงเงินไว้เพียง 350 ล้านบาท

 

ต่อมาจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีแนวทาง(ความเห็นส่วนตัวของผม  1.ต่อรองกับบริษัทประกันเพื่อให้งบประมาณที่สามารถทำสัญญาได้คือ 350 ล้านบาท ประตูนี้น่าจะออกยาก เพราะบริษัทเขาก็ต้องแสวงหากำไร 2.เพิ่มงบประมาณเป็น 406 ล้านบาท ประตูนี้บอร์ดก็เครียด เพราะต้องไปถัวเฉลี่ยหางบประมาณอื่นมาโปะ

 

ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องเพิ่มกรอบงบประมาณปี 2565 จะทำให้ผิดวินัยทางการเงิน และอันตรายต่อการตั้งกรอบงบประมาณด้านสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางในปีหน้า ที่เรามีเงินต่อปี 500 กว่าล้าน หากต้องทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มต่อไปก็ต้องคิดใหม่ ทั้งวงเงินเอาประกันและเงื่อนไขอื่นๆ ประตูนี้บอร์ดคงถกเถียงกันอย่างรอบด้าน ไม่มั่นใจว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะถ้าเดินหน้าตามเงื่อนไขเดิม ในปีหน้าแทบไม่เหลืองบประมาณด้านสวัสดิการไปทำเรื่องอื่นเลย

 

 

3.กลับไปใช้ข้อเสนอจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับประเทศ กยท.และของบอร์ดตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางเสียงข้างน้อย 4 เสียง ที่เสนอให้เปลี่ยนรูปแบบประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เป็นการจ่ายช่วยค่าทำศพให้เกษตรกรชาวสวนยางทุกกรณี รายละ 40,000 บาท ถ้าตามสถิติ สมมติเสียชีวิต 8,000 ราย ก็ใช้งบประมาณเพียง 320 ล้านบาท ซึ่งทำให้อยู่ในกรอบงบประมาณและเป็นการประหยัดเงินกองทุนพัฒนายางพารา 406-320 = 86 ล้านบาท

 

“ประตูนี้เป็นไปได้สูง เพราะวิธีนี้ง่าย สะดวก ใช้เวลาไม่นานชาวบ้านได้เงิน ใช้หลักฐานแค่ใบมรณบัตร ไม่ต้องยุ่งยากกับเงื่อนไขตามกฎหมายของบริษัทประกัน ที่มียกเว้นบางกรณี เช่น ทะเลาะวิวาท เมาไม่ขับ และการหาหลักฐานเอกสารประกอบมากมาย บางรายใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าจะได้เงิน หรือไม่คุ้มกับการหาหลักฐาน ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลากินหมด”