วิกฤติไต้หวัน สร้างโอกาสส่งออกไทยไปจีน-ดึงลงทุนเข้าประเทศเพิ่ม

14 ส.ค. 2565 | 16:08 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2565 | 23:21 น.
504

รัฐบาลไต้หวันเร่งหาแนวทางลดผลกระทบ หลังจีนห้ามนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปกว่า 2,000 รายการ และให้ขึ้นทะเบียนโรงงานใหม่ ระบุผู้ผลิตขนมเปี๊ยะได้รับผลกระทบมากสุด ทูตพาณิชย์ชี้เป็นโอกาสสินค้าไทยส่งไปจีนเพิ่ม แนะดึงไต้หวันลงทุนไทยในอุตฯไฮเทค-รถอีวี

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ดูแลตลาดไต้หวัน รายงานว่า จากที่กรมศุลกากรจีนได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปในสินค้าขนม ขบเคี้ยว บิสกิต ขนมเปี๊ยะ ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มบรรจุขวด ใบชา น้ำผึ้ง ฯลฯ จากผู้ประกอบการไต้หวัน 1 วันก่อนนางแนนซี่ เพโลซี ประสภาผู้แทนราษฎรของหสรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไต้หวันหลายรายได้รับผลกระทบ เช่น Vigorkobo, JINGQI Food, Kuo Yuan Ye, Wei Lih Food Industrial, Wei Chuan Foods, Taisun Enterprise, A.G.V. Products, Fuyuan Peanut Butter, Yu Jan Shin, Kuai Kuai, TUNG SHAING FOODS, Kuang Chuan Dairy, CHIMEI เป็นต้น

 

วิกฤติไต้หวัน สร้างโอกาสส่งออกไทยไปจีน-ดึงลงทุนเข้าประเทศเพิ่ม

 

จากฐานข้อมูลของกรมศุลกากรจีน ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 มีสินค้าอาหารของไต้หวันขึ้นทะเบียน รวม 3,228 รายการ โดยในจำนวนนี้มี 2,066 รายการที่ถูก “ห้ามนำเข้าชั่วคราว” คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อย ละ 64 ของรายการสินค้าอาหารทั้งหมดของไต้หวันที่มีการขึ้นทะเบียนโดยกรมศุลกากรจีนให้เหตุผลว่าโรงงานเหล่านี้จำเป็นจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการขึ้นทะเบียนใหม่

 

หนึ่งในเอกสารที่ต้องการคือ หนังสือรับรอง จากกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวัน ว่า ไม่มีการใช้วัตถุดิบที่มาจากเขต 5 จังหวัดของญี่ปุ่น (ฟุกุชิมะ อิบารากิ โทชิกิ กุนมะ และชิบะ) ซึ่งมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีโดยไต้หวันได้มีการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าจาก เขตเหล่านี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

มาตรการของจีนในครั้งนี้ ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตขนมเปี๊ยะของไต้หวันเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยในช่วงต้นเดือนกันยายนจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ปกติจะมีความต้องการขนมไหว้พระจันทร์เป็นของขวัญในปริมาณที่สูงมาก

 

อย่างไรก็ดี กรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน (BOFT) ชี้ว่า โรงงานที่ถูกห้ามนำเข้าชั่วคราวในครั้งนี้ ยังสามารถที่จะยื่นเอกสารเพิ่มเติม เพื่อขอให้จีนพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าสินค้าได้อีกครั้ง ซึ่งในชั้นนี้ หน่วยงานไต้หวันกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมศุลกากรจีน ยังได้ประกาศห้ามการนำเข้าผลไม้ประเภท ส้ม (รวมถึงส้มโอ) ปลาดาบ และปลาแมคเคอเรลจากไต้หวันเป็นการชั่วคราวด้วย โดยให้เหตุผลว่า ตรวจพบศัตรูพืช (Planococcus minor) ในผลส้มที่นำเข้าจากไต้หวัน อีกทั้งยังเคยตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้างที่เปลือก ส้มในระดับที่สูงว่าที่กำหนดไว้หลายครั้ง และยังเคยตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในปลาแช่แข็งดังกล่าวที่นำเข้าจาก ไต้หวันด้วย

 

โดย นายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน (Council of Agriculture: COA) คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าประเภทส้มประมาณ 8,000 ตัน (แบ่งเป็นส้มโอ 5,000 ตัน และส้มชนิดอื่น 3,000 ตัน) ปลาดาบและปลาแมคเคอเรลแช่แข็ง 4,500 ตัน และ 5,500 ตันตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมประมาณ 700 กว่าล้านบาท ซึ่ง COA เตรียมแก้ไขปัญหาโดยจะแจกคูปองเงินสดสำหรับซื้อสินค้าเกษตรไต้หวัน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออก โดยที่ผ่านมา หลังจากที่จีนห้ามนำเข้าชมพู่ สับปะรด และน้อยหน่าจากไต้หวัน ประชาชนและบริษัทห้างร้านของไต้หวันต่างช่วยกันซื้อสินค้า ดังกล่าวเป็นของขวัญ/ของฝากให้แก่กัน เพื่อช่วยระบายสินค้า

 

ทั้งนี้นายสวี่ซูปั๋วประธานหอการค้าแห่งไต้หวันชี้ว่า การค้าระหว่างไต้หวันและจีนมีความเกี่ยวพันกันเป็นอย่างมาก แบ่งเป็นในส่วนที่จีนต้องพึ่งพาไต้หวัน เช่น ภาคการผลิต อุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ กับในส่วนที่ไต้หวันต้องพึ่งพาจีน เช่น ภาคการก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรายธรรมชาติ รวมถึง อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรที่ต้องพึ่งพาการส่งออก โดยมีจีนเป็นตลาดหลักและถูกห้ามการนำเข้าใน ครั้งนี้

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไต้หวันได้รับผลกระทบสูงไม่น้อย โดยนายสวี่ซูปั๋ว ยังเห็นว่า เศรษฐกิจไต้หวันต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก ในขณะที่จีนก็ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญและเป็นตลาดที่ไต้หวันได้ดุลการค้าต่างประเทศมากสุด ทั้งสองฝ่ายจึงควรที่จะกลับมาสู่การเจรจาให้เร็วที่สุด เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจการค้ากลับมาอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพอีกครั้ง พร้อมขอให้รัฐบาลไต้หวันเร่งหามาตรการช่วยเหลือ ให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านช่วงที่มีปัญหานี้ไปได้

 

สำหรับการซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวันระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคมนั้น กรมเจ้าท่าของไต้หวันชี้ว่า เรือขนส่งยังสามารถเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลบเส้นทางที่มีการซ้อมรบได้ จึงยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดีในส่วนของภาคการประมงนั้น จากการเปิดเผยของสหกรณ์ประมงซูอ้าว ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะ ไต้หวัน และมีเรือประมงที่เป็นสมาชิกประมาณ 200 ลำ ได้ออกมาชี้ว่า การซ้อมรบทำให้เรือประมงไม่สามารถออกไปจับปลาได้ตามปกติ ทำให้เกิดความเสียหายให้แก่สมาชิกอย่างน้อยประมาณ 60 ล้านบาท

 

สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ให้ความเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ที่ตึงเครียด ส่งผลให้ผู้ประกอบการไต้หวันเร่งกระจายความเสี่ยงโดยลดการพึ่งพาตลาดจีน และหันไปขยายตลาด/ลงทุนในประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน จึงถือเป็นโอกาสของไทยที่จะดึงดูดทุนไต้หวันให้เข้าลงทุน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมไฮเทคและยานยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)ที่ไต้หวันมีความเชี่ยวชาญ

 

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการที่จีนห้ามนำเข้า สินค้าอาหารจากไต้หวันจากไต้หวันในครั้งนี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในส่วนของ ส้มโอและขนมไหว้พระจันทร์ เพราะเทศกาลไหว้พระจันทร์กำลังจะมาถึงในช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ และสินค้าทั้งสองประเภทนี้เป็นสินค้าที่ไต้หวันส่งออกไปจีนเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ดี จากตัวอย่างของมาตรการที่จีนบังคับใช้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ส่งออก อาหารที่จะนำเข้ามาสู่ตลาดจีนนั้น ผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ประสงค์จะส่งออกไปจีน ก็ควรจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้