‘ซีวิล’ โหมประมูล เมกะโปรเจ็กต์ครึ่งปีหลัง แตะ 1.7 หมื่นล้าน

03 ส.ค. 2565 | 06:00 น.

“ซีวิล” เล็งประมูลเมกะโปรเจ็กต์ครึ่งปีหลัง 65 กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ดันมูลค่างานในมือแตะ 2 หมื่นล้านบาท ซุ่มหารือพันธมิตรร่วมงานพีพีพี ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-เมืองการบินอู่ตะเภา มั่นใจโกยรายได้กว่า 6.5 พันล้านบาท

บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้รับเหมาก่อสร้างในไทย เร่งเครื่องประมูลเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 ทำให้ บริษัทสามารถวางแผนลงทุนเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพงานก่อสร้างที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและต่อยอดการเติบโตธุรกิจในอนาคต

 

 

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยว่า สำหรับ ธุรกิจครึ่งปีหลัง 2565 บริษัทมี แผนที่จะเข้าร่วมการประมูลโครง สร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่กำลังจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีหลังภายในเดือนตุลาคม 2565 รวมมูลค่า 17,000 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างของกรมทางหลวงและทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 2,600-2,800 ล้านบาท, งานเขื่อนและระบบนํ้าของกรมชลประทาน วง เงิน 1,000-3,000 ล้านบาท, งานก่อสร้างสนามบินของกรมท่าอากาศยาน วงเงิน 1,200 ล้านบาท, งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 8,000-10,000 ล้านบาท โดยบริษัทได้เข้าร่วมประมูลงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันติดปัญหาสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นแนวเส้นทางต่อเนื่องกับสัญญา 4-7 ช่วงแก่งคอย-สระบุรี ห่างจากโรงงานเซ็กเมนต์ของบริษัทราว 3-4 กิโล เมตร (กม.) รวมทั้งบริษัทมีแผนเตรียมเข้าประมูลงานภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสรับงานที่หลากหลายคาดว่าจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ราว 15,000-20,000 ล้านบาท

 

 

 “บริษัทได้เพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง โดยมีการหารือร่วมกับพันธมิตร ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะเข้าร่วมงานลงทุนในโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น (PPP) เช่น เอกชนบางรายที่ได้ประมูลงานก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา),เมืองการบินอู่ตะเภา เชื่อว่าหากเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว บริษัทอาจจะได้เป็น 1 ในคอนเทนเดอร์ที่จะเข้าไปช่วยงานในโครงการฯด้วย”

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานก่อสร้างแบ่งเป็น งานก่อสร้างทางรถไฟและรถไฟความเร็วสูง 46% งานทาง 41% งานก่อสร้างสนามบิน 2% งานเขื่อนและระบบนํ้า 1% และงานประเภทอื่นๆ 10% โดยบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหลายโครง การ เช่น ท่าอากาศยานลำปาง, ท่าอากาศยานหัวหิน, ท่าอากาศยานตรัง, งานทางหลวงพิเศษบริเวณถนนพระราม2, งานทางหลวง 304 สายแจ้งวัฒนะ, รถไฟทางคู่ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร, ไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก, ไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 4-7 ช่วงแก่งคอย-สระบุรี, ทางพิเศษพระราม 3, พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด ฯลฯ 

 

 


ส่วนธุรกิจเหมืองหิน จังหวัดสระบุรี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสแอนด์ โปรดักส์ จำกัด (บริษัทย่อย) ได้เริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 และจะสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังตลอดครึ่งปีหลังปี 2565 ซึ่งจะลดความผันผวนด้านราคาวัสดุก่อสร้างจากการนำหินมาใช้ในโครงการก่อสร้างของบริษัท อีกทั้งแหล่งวัตถุดิบตั้งอยู่ใกล้โครงการก่อสร้างทางไฮสปีดไทย-จีน ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งและลดความผันผวนของซับพลายหิน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจำหน่ายหินให้กับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรม คาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจเหมืองหิน ราว 10 ล้านบาทต่อเดือน

 

 

 “จากแผนดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท คาดว่าสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ในปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่ 20-30% อยู่ที่ 6,000-6,500 ล้านบาท จากเดิมในปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท”
 

‘ซีวิล’ โหมประมูล  เมกะโปรเจ็กต์ครึ่งปีหลัง  แตะ 1.7 หมื่นล้าน

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวต่อว่า  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถาน การณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างที่ออกนอกประเทศราว 300,000 คนส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้า รวมทั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เกิดปัญหาต้นทุนวัสดุก่อ สร้างเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก, นํ้ามัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเป็นความท้าทายให้บริษัทต้องปรับตัวโดยปรับกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพในโครงการก่อ สร้างและการจัดการต้นทุนก่อสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์ รวมทั้งการเร่งรัดการก่อสร้างโดยขอความร่วมมือจากภาครัฐและผู้ว่าจ้าง เช่น การขอขยายสัญญาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่เสียค่าปรับ ซึ่งได้มีโอกาสคุยกับภาครัฐ จนสามารถดำเนินการก่อ สร้างได้ตามแผน ปัจจุบันทาง สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ระหว่างเสนอภาครัฐพิจารณายกเลิกเพดานค่าเค (Escalation Factor) ที่กำหนด+-4% ชั่วคราว เนื่องจากการส่งมอบงานในแต่ละงวดจะมีการ ใช้สูตรคำนวณดังกล่าวก่อน สวนทางกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

 

 “ถึงแม้ว่าผลดำเนินงานบริษัทอาจมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงที่กระทบภาคอุตสาหกรรม แต่โครงการภาครัฐยังคงเดินหน้าและมีแผนการเปิดประมูลที่ชัดเจน ทำให้บริษัทมี โอกาสที่จะขยายศักยภาพที่เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้บริษัทสามารถ ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานได้ตามแผน อีกทั้งยังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง”