ด่วน มวลน้ำเหนือทะลัก ให้เก็บของขึ้นที่สูง

27 ก.ค. 2565 | 13:34 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2565 | 20:36 น.
6.5 k

กรมชลประทาน แจ้งเตือน มวลน้ำเหนือทะลัก คาดจะเพิ่มสูงขึ้น เวลา 12.00 น. วันพรุ่งนี้ หากมีแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก จะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด

กรมชลประทาน ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เช้าวันนี้ (27 ก.ค. 65) เวลา 06.00 น. ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,180 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.54 เมตร แนวโน้มปริมาณน้ำเหนือยังคงเพิ่มสูงขึ้น ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C .13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 1,100 ลบ.ม./วินาที

 

ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน ที่อยู่บริเวณนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนแม่น้ำน้อย (ต.หัวเวียง อ.เสนา) , ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากวันนี้(27 ก.ค. 65)ประมาณ 20 เซนติเมตร ในช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (28 ก.ค. 65)

 

 

ด่วน มวลน้ำเหนือทะลัก ให้เก็บของขึ้นที่สูง

 

สำหรับปริมาณน้ำ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันที่ 27 ก.ค. 65 (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,424 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 95.01 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีกกว่า 14,400 ล้าน ลบ.ม.

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ หากมีแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก จะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 สถานี C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ  1,200 - 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่สถานี ct.19 มีปริมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำท่าจากลำน้ำสาขาประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,450 - 1.,550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,000 - 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที่ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.50 เมตร บริเวณพื้นที่สุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผงจังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดงอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

 

 

ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2565 เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 - 2.10 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ระหว่าง วันที่ 28 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2565