ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มลากยาว BTS เล็งฟ้องศาลปกครอง TOR ปิดกั้นแข่งขัน

23 ก.ค. 2565 | 07:54 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 15:30 น.
780

ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม “อลเวง” ก่อสร้าง-เปิดให้บริการจ่อเลื่อนยาว ทำประชาชน-ดีเวลลอปเปอร์เสียโอกาส ปมคดีรื้อเกณฑ์ทีโออาร์ -ล้มประมูล  บีทีเอส(BTS) ลุยฟ้องดีเอสไอ-ศาลปกครอง ปมประมูลรอบสอง ส่อฮั้วปิดทางแข่งขัน

 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม(บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท กลายเป็นมหากาพย์การต่อสู้ระหว่างเอกชนผู้ประมูลงานและหน่วยภาครัฐเจ้าของโปรเจ็กต์อย่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และ คณะกรรมการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

 

 

เนื่องจากส่อเจตนา แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลหรือเกณฑ์ทีโออาร์ หลังปิดการขายซองประกวดราคา จากเดิมเคยยึดซองราคาเป็นตัวชี้ขาด เป็นการใช้ซองเทคนิคพิจารณาพ่วงกับซองราคาสัดส่วน 30 และ 70 คะแนนตามลำดับ สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับเอกชนที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งขันที่มีทักษะที่สูงกว่า อีกทั้งยังเปิดช่องการให้คะแนนเพิ่มเติมของคณะกรรมการโดยใช้ดุลยพินิจ

 

กระทั้ง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ได้รับความเสียหาย ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และอีกฝั่งต้องล้มประมูลโครงการออกไปเพื่อต้องการให้ศาลจำหน่ายคดีและพลิกกลับมาเปิดประมูลใหม่แต่ความผิดไม่ได้ล้มหายตามไปด้วยในทางกลับกัน

 

ศาลปกครองกลางได้พิพากษาแยกออกเป็นสองคดีตามที่บีทีเอสซียื่นฟ้อง โดยวันที่ 9 กุมภา พันธ์ 2565 ศาลปกครองกลาง วินิจฉัยคดี รฟม.แก้เกณฑ์ทีโออาร์ มิชอบด้วยกฎหมาย และวันที่ 7 กรกฎาคม 2565  ศาลปกครองกลาง พิพากษาคดีล้มประมูลสายสีส้ม วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

              

ซึ่งกลายเป็นบรรทัดฐานทางกระบวนการยุติธรรมแต่การประมูลรอบสองของรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36ฯ ที่มีเอกชนซื้อซองมากถึง 14 ราย ทั้งไทยและต่างชาติปรากฏว่าได้กำหนดเกณฑ์ทีโออาร์ที่เข้มข้นกว่าเดิมคือต้องผ่านคะแนนเทคนิค 90 คะแนนจึงมีสิทธิ์เปิดซองราคา และต้องเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี

 

มีผลงานด้านงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ สถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และ มีงานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

 

 

ประเด็นนี้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นักวิชาการและในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  สะท้อนว่า การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งโลก มีเพียง บริษัทรับเหมารายใหญ่ เพียง 2 รายเท่านั้นส่งผลให้ บีทีเอสซี ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36ฯ อีกครั้ง ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอในคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบสอง  เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ซึ่งดีเอสไอได้รับคำร้อง ดังกล่าวแล้ว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากบริษัทจะร้องทางอีเอสไอแล้วในเร็ววันนี้จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีรัฐกำหนดหลักเกณฑ์ปิดกั้นการแข่งขันประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ที่เข้มข้นกว่าเดิม  โดยเฉพาะการเคยเป็นคู่สัญญารัฐ มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี และเคยมีผลงานขุดเจาะอุโมงค์ออกแบบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน ฯลฯ

 

 

 

มองว่าหากรัฐ แจ้งเอกชนล่วงหน้าให้เกิดการเตรียมความพร้อม บริษัทน่าจะยอมรับได้ แต่การออกเกณฑ์แบบกะทันหัน และจ่อจงใจเพื่อปิดกั้นคู่แข่งขันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือว่าส่อเจตนาฮั้วประมูลไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยุติการฟ้องร้องได้ก็ต่อเมื่อ รฟม. ต้องนำเกณฑ์ทีโออาร์เดิมมาใช้ นั่นคือตัดสินที่ซองราคา ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่หน่วยงานภาครัฐถือปฎิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอด

              

 

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมสั่งให้รฟม. เลื่อนการให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอประมูลราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้นั้น  ยังไม่มีการแจ้งเอกชนให้ทราบอย่างเป็นทางการ ซึ่งคงต้องดูในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งยกเลิกการประมูลราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่แน่ใจว่าการประมูลรอบใหม่ในครั้งนี้จะมีผลด้วยหรือไม่

              

“หากมีการเลื่อนยื่นซองข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม คงต้องรอดูก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้ามีการล้มประมูลรอบนี้ ทางบีทีเอสมีความพร้อมที่จะประมูลสายสีส้มรอบใหม่อีกหรือไม่ เราก็ต้องดูทีโออาร์ใหม่ก่อน เพราะการประมูลในรอบนี้เราจะลำบาก เนื่องจากพันธมิตรของเราอย่างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC  เป็นผู้รับเหมารายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ยังไม่เข้าเงื่อนไขคุณสมบัติการประมูล ทำให้ต้องหาพันธมิตรรายอื่นมาร่วม”

             

 

  ทั้งนี้การยื่นหนังสือร้องเรียนดีเอสไอ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ และผู้ว่าการ รฟม.ที่ประกาศยกเลิกการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม  เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

              

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรณีศาลปกครองกลาง ชี้ขาด ว่าการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างเตรียมการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนถึงวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอประมูลสายสีส้ม รวมทั้งฝ่ายกฎหมายของรฟม.อยู่ระหว่างดูรายละเอียดคำวินิจฉัยจากศาลปกครองกลางด้วย

              

 

“วันที่ 27 ก.ค.นี้ จะมีการยกเลิกให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอหรือไม่ คงต้องรอให้ได้ข้อสรุปจากการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร” 

              

 

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT สะท้อนว่า ต้องชื่นชมเอกชนที่ต่อสู้ทางคดีเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณะ และรัฐมีความพยายามใช้เกณฑ์การประมูลที่ส่อในทางที่ผิดมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นควรใช้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาประมูลงานของรัฐ

 

 

ขณะเดียวกันหากยังคงดึงดันใช้เกณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม จะทำให้การฟ้องร้องไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความเสียหายต่อภาครัฐเอง และทำให้ประชาชนเสียโอกาสจากการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มรวมถึง ดีเวลลอปเปอร์ ที่ลงทุนตามแนวเส้นทางด้วย