"เอ็กโก กรุ๊ป" ยันโครงสร้างหลักเขื่อนโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 แข็งแรงได้มาตรฐาน

17 ก.ค. 2565 | 21:27 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 04:27 น.

"เอ็กโก กรุ๊ป" ยันโครงสร้างหลักเขื่อนโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 แข็งแรงได้มาตรฐานสากล ระบุประสานกับหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาวสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้ข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนแล้ว

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพและกระแสข่าวเกี่ยวกับการรั่วซึมของน้ำของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว ในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า เอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะผู้ถือหุ้น 25% ของโครงการดังกล่าว ขอชี้แจงว่า กระบวนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัด (Roller Compacted Concrete Dam) อาจทำให้มีน้ำแทรกตัวผ่านช่องเล็ก ๆ ของชั้นดินและชั้นหินด้านข้างตัวเขื่อนในบางจุดนั้น 

 

เป็นกรณีปกติที่สามารถพบได้ในช่วงที่เขื่อนเริ่มมีการกักเก็บน้ำ ซึ่งไม่มีผลต่อโครงสร้างหลักและความแข็งแรงปลอดภัยของเขื่อน ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด โดยโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” ได้ประสานกับหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้ข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี เอ็กโก กรุ๊ป ขอยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน 1” กำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 644.30 เมกะวัตต์ ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โครงสร้างเขื่อนมีความแข็งแรงและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล 

 

"เอ็กโก กรุ๊ป" ยันโครงสร้างหลักเขื่อนโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 แข็งแรง

 

รวมทั้งมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date - COD) ภายในเดือนสิงหาคม 2565
 

ประเด็นดังกล่าวเกิดจากกรณีมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ของ สปป.ลาว มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำ เขื่อนน้ำเทิน 1 สปป.ลาว เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ จากกรณี พบการรั่วซึมจากขั้นตอนการก่อสร้าง

 

ทั้งนี้  เบื้องต้นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า การรั่วซึมของเขื่อนตามที่มีการนำเสนอข่าว เกิดจากกระบวนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัด

 

อาจมีน้ำไหลผ่านช่องเล็กๆ ของชั้นดินและชั้นหินด้านข้างตัวเขื่อน และไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นโครงสร้างของเขื่อน ซึ่งเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงไม่มีผลต่อความมั่นคงของเขื่อนแต่อย่างใด