บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 1 ในรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยผู้บริหารได้เล่าถึงบรรยากาศอุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวและการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ภายหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพ่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการเปิดประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกครั้ง
เล็งเปิดอาคาร SAT-1
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT1) ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเตรียมเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2566 พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ซึ่งจะเดินรถให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างอาคาร SAT1 และอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยการให้บริการดังกล่าวผู้โดยสารไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในท่าอากาศยาน
สำหรับอาคาร SAT1 มีพื้นที่ 2.16 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มีจำนวนประตูทางออกที่เชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด CODE F เช่น A380 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด CODE E เช่น Boeing 747 ได้ 20 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. จากปัจจุบัน 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 60-63 เที่ยวบินต่อชั่วโมง(ชม.) เป็น 68 เที่ยวบินต่อชม.
เปิดตัวรถไฟฟ้าไร้คนขับ
ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) ขณะนี้ ทอท. ยังคงนำรถไฟฟ้า APM รุ่น Airval ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง ทั้ง 6 ขบวน 12 ตู้ ที่ขนส่งมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สลับกันมาทดสอบเดินรถทุกขบวนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีความเสถียร แม่นยำ ตรงต่อเวลา และปลอดภัย โดย 1 ขบวน จะมี 2 ตู้ สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชั่วโมง (ชม.) ซึ่งจะใช้ความเร็วในการเดินรถสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร(กม.)ต่อชม.ทั้งนี้จากการทดสอบเดินรถอย่างต่อเนื่องนั้น ยังไม่พบปัญหาใด
ครม.ตีกลับแผนบริหารโอน 3 สนามบิน
ขณะที่แผนการโอนย้าย 3 สนามบิน สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ จาก กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาสังกัดทอท.นั้น ล่าสุดได้รับทราบว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีกลับแผนดังกล่าว โดยให้ไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม
“สาเหตุที่ครม.ตีกลับแผนดังกล่าว เพราะอะไรนั้น ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากรายละเอียดดังกล่าวยังส่งมาไม่ถึงตน เพราะครม.เพิ่งสั่งตีกลับแผนฯ ส่วนกรณีที่มีกระแสว่ากระทรวงมหาดไทยคัดค้าน เพราะต้องการให้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติ”
สำหรับสาเหตุที่ให้มีการโอนย้ายความรับผิดชอบของ 3 สนามบิน เนื่องจากมีการพิจารณาความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม (National Airport System) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศ ทั้งนี้พบว่าการให้ ทอท.เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยาน ทั้ง 3 แห่ง แทน ทย.จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็น Local airport ให้ยกระดับเป็น Regional Airport และ Secondary Hub Airport ในอนาคต
ประมูลดอนเมือง เฟส3 กลางปีหน้า
รายงานข่าวจากทอท.แจ้งว่า ความคืบหน้าโครงการความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829 ล้านบาท ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Design&Build) วง เงิน 600 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 ทั้งนี้ในช่วงที่อยู่ระหว่างการออกแบบศึกษาฯนั้น ทอท.จะเสนอแผนรูปแบบการร่วมลงทุนเพื่อขออนุมัติเงินลงทุนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้
นอกจากนี้หากเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาภายในกลางปี 2566 และลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลภายในระยะเวลา 3 เดือน จะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปี 2566 เปิดให้บริการภายในปี 2569