กอนช. ซ้อมแผนเผชิญเหตุ "พิษณุโลก" พร้อมรับมือฤดูฝนภาคเหนือ

28 มิ.ย. 2565 | 18:10 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 01:23 น.

กอนช.ลงพื้นที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก รับมือฤดูฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 65 ล็อกเป้าลุ่มน้ำยม-น่านพื้นที่เสี่ยงท่วมซ้ำซาก หวังลดผลกระทบพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำหลาก

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน (28 มิ.ย.65) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 จ.พิษณุโลก

 

โดยมี ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. พร้อมด้วย ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยทหาร เข้าร่วม

 

กอนช. ซ้อมแผนเผชิญเหตุ \"พิษณุโลก\" พร้อมรับมือฤดูฝนภาคเหนือ

 

รองเลขาธิการ สทนช. เผยว่า จากการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ฝนปีนี้ กอนช. ได้ประเมินแล้วว่าในหลายพื้นที่จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีหลายพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย กอนช. จึงได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความเป็นห่วงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ

 

ทั้งนี้จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือ “วิกฤติน้ำ” ที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย ทั้งการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำ ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และการช่วยเหลือเยียวยาภายหลังประสบภัย ภายใต้กลไกของ “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เชื่อมโยงกับการรับมือสาธารณภัยด้านน้ำตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

 

กอนช. ซ้อมแผนเผชิญเหตุ \"พิษณุโลก\" พร้อมรับมือฤดูฝนภาคเหนือ

 

 สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่มักเกิดผลกระทบจากอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับปริมาณน้ำฝนนั้น ในปี 2565 กอนช.คาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.65 มีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 706 มิลลิเมตร  หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ปัจจุบันน้ำต้นทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำ 290  ล้าน ลบ.ม. 

 

โดยในช่วงฤดูฝนนี้ กอนช.ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.รวม 485 ตำบล 102 อำเภอ 16 จังหวัด เพื่อให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนล่วงหน้า  รวมถึงติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี

 

กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบส่งน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ณ บริเวณท่อระบายน้ำคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการมาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ สำหรับบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน

 

ขณะเดียวกัน กอนช.ยังได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุ ทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถติดตามประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้มีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย ผ่านรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก

 

กอนช. ซ้อมแผนเผชิญเหตุ \"พิษณุโลก\" พร้อมรับมือฤดูฝนภาคเหนือ

 

โดยมีขั้นตอนในการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ฝึกซ้อมไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.อุบลราชธานี โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และศูนย์ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้

 

“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับและเน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและผลกระทบกับประชาชนให้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการที่ 10 การซักซ้อมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ และมาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ที่จะต้องมีการซักซ้อมความพร้อมของแผนเผชิญเหตุ และการเตรียมสถานที่รองรับการอพยพ หากมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว