NIA เปิดเวที "STARTUP THAILAND LEAGUE 2022" เฟ้นหาไอเดียจากนิสิต-นักศึกษา

23 มิ.ย. 2565 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 02:02 น.
813

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA เปิดเวที STARTUP THAILAND LEAGUE 2022 ลุยส่งท้ายภูมิภาคที่กรุงเทพฯเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพภาคกลางและตะวันออกก่อนลุยแข่งต่อในเวทีระดับประเทศ  ชิงเงินสนับสนุนรวมกว่า2.5ล้านบาท

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเวทีใหญ่ระดับประเทศ STARTUP THAILAND LEAGUE ปีที่ 6 เฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพระดับมหาวิทยาลัยทั่วไทย ปีนี้เปิดรอบคัดเลือกใน 4 ภูมิภาค

 

ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคอีสานที่อุบลราชธานี ภาคใต้ที่สงขลา และภาคกลาง-ตะวันออกที่กรุงเทพฯ พร้อมประกศผลสุดยอดสตาร์ทอัพลีกภาคกลาง-ตะวันออก

 

โดยมี ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA และคุณชาลิณี คันธวณิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจลูกค้า SMEs Startup ธนาคารออมสิน เป็นผู้มอบรางวัล ก่อนเตรียมนำแชมป์ทุกภูมิภาคลุยแข่งต่อระดับประเทศและเปิดโอกาสให้ 100 ทีมทั่วประเทศได้โชว์ผลงานแก่นักลงทุนและผู้สนใจในงาน Demo Day เดือนสิงหาคมนี้

NIA เปิดเวที \"STARTUP THAILAND LEAGUE 2022\" เฟ้นหาไอเดียจากนิสิต-นักศึกษา

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ ด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า โครงการ STARTUP THAILAND LEAGUE เกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ STARTUP ให้เป็นนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ

 

เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ STARTUP เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการสร้างความตระหนักและการรับรู้จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนการเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล 

 

NIA ได้จัดงาน STARTUP THAILAND LEAGUE 2022 เป็นปีที่ 6 เพื่อเป็นเวทีแห่งโอกาสให้นิสิต/นักศึกษาที่มีไอเดียนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาธุรกิจแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสังคม และผลักดันให้เกิด STARTUP รุ่นใหม่มากขึ้น

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา NIA ได้พัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นภายในมหาวิทยาลัย จากปี 2560 ที่เริ่มโครงการมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพียง 28 แห่ง แต่ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ 48 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน

NIA เปิดเวที \"STARTUP THAILAND LEAGUE 2022\" เฟ้นหาไอเดียจากนิสิต-นักศึกษา

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า ปีนี้ NIA ได้เดินสายเปิดเวทีการแข่งขันเวทีแรกที่ภาคเหนือ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ตามต่อด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ส่งไม้ต่อไปยังภาคใต้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา

 

และปิดท้ายที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ณ อาคาร KX (Knowledge Exchange) จ.กรุงเทพมหานคร โดยปีนี้มีมหาวิทยาลัยเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 48 แห่งทั่วประเทศ 

 

“วันนี้เป็นการแข่ง STARTUP THAILAND LEAGUE 2022 รอบภูมิภาคสนามสุดท้าย จัดที่กรุงเทพมหานคร มี 141 ทีมจาก 25 มหาวิทยาลัยเข้าแข่งขัน  และทาง NIA ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกทีมในวันนี้ ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลตามที่ตั้งใจไว้ เราเชื่อมั่นว่าการผลักดันให้เกิด STARTUP หน้าใหม่ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโต และสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะแสดงให้โลกได้เห็นว่า STARTUP หน้าใหม่ของไทยพร้อมแล้วที่จะเจิดจรัสบนเวที STARTUP โลก”

 

จากการเฟ้นหาสุดยอด STARTUP หน้าใหม่ นำเสนอแผนงานธุรกิจในรอบสุดท้ายของภาคกลาง-ตะวันออก  ทีมชนะเลิศรางวัลได้รับประกาศเกียรติคุณจาก NIA และเงินรางวัลสนับสนุนโดยธนาคารออมสิน ได้แก่ 

  • ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมCARSUP   จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์
  • รองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมElectron+ จากมหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีมDetox Din  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ทั้ง 3 ทีมจะเป็นตัวแทนสตาร์ทอัพภาคกลางและภาคตะวันออก เข้าร่วมชิงแชมป์สุดยอด STARTUP THAILAND LEAGUE 2022 ระดับประเทศ ซึ่งจะจัดในเดือนสิงหาคมนี้

 

นอกจากนี้ NIA ยังได้คัดเลือก 100 ทีมจากทั่วประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ แสดงผลิตภัณฑ์หรือบริการแก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจภายในงาน Demo Day 2022 ที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน โดยทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เงินสนับสนุนแก่ 100 ทีม ๆ ละ 25,000 บาท รวมเงินสนับสนุน 2,500,000 บาท เพื่อนำไปจัดทำต้นแบบของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Prototype) ต่อไป