ครม.ไฟเขียวมอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา 2 กม. มูลค่า 4,508 ล้าน

14 มิ.ย. 2565 | 15:07 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2565 | 22:11 น.

ครม.ไฟเขียวก่อสร้างมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ของกรมทางหลวง ระยะทางรวม 1.92 กิโลเมตร วงเงินรวม 4,508 ล้านบาท มอบกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา วงเงินรวม 4,508 ล้านบาท ระยะทางรวม 1.92 กิโลเมตร 

 

โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงานตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 108 ล้านบาท รวมถึงเงินงบประมาณสมทบกับแหล่งเงินกู้ โดยอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณสมทบให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังทำความตกลงกับแหล่งเงินกู้

 

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตบริเวณสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งสนามบินอู่ตะเภาจะเปิดให้บริการเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่3 ในปี 2568

โดยจะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ถัดจากด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอู่ตะเภาเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินอู่ตะเภาโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดระยะทางสู่สนามบินอู่ตะเภาจากเดิม 5 กิโลเมตร เหลือ 1.92 กิโลเมตร 

 

โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพิ่ม รวมถึงทางเลี้ยวและทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับถนนสุขุมวิท คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2568 จะมีปริมาณจราจรประมาณ 22,000 คันต่อวัน และเพิ่มเป็น 41,300 คันต่อวันในปี 2597 หรือปีที่ 30 ของโครงการ

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มูลค่าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภารวม 4,508 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน และเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดรวม 4,400 ล้านบาท ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565
  • ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 108 ล้านบาท ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณระยะเวลาก่อสร้างระหว่างปี 2565-2567 

โดยโครงการนี้แม้จะไม่มีผลตอบแทนทางการเงินเพราะไม่มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในบริเวณส่วนต่อขยาย แต่เมื่อวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการพบว่า มีค่าร้อยละ 14.79 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดที่ร้อยละ 12 แสดงว่าโครงการฯมีความเหมาะสมที่จะลงทุน