ลุยต่อ "คมนาคม" สู้คดีโฮปเวลล์ ลุ้นแพ่งพิจารณาตั้งบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมาย

30 พ.ค. 2565 | 18:19 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 01:24 น.

"คมนาคม" เดินหน้าสู้คดีโฮปเวลล์ หลังศาลปกครอง ปัดตกไม่รับคำฟ้อง ด้าน "ศักดิ์สยาม" เชื่อคำตัดสินศาลปกครองไม่กระทบคดี เล็งฟ้องแพ่งพิจารณาจัดตั้งบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า ผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ไม่เป็นผลต่อการฟ้องร้องสู้คดีครั้งใหม่ของ รฟท.และกระทรวงคมนาคม เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องคดีแพ่ง ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

สำหรับการพิจารณาคดีทางศาลปกครองนั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้คณะทำงานตรวจสอบเรื่องแล้วมีการสั่งการให้ รฟท.ทำหนังสือถึงนายทะเบียนเมื่อ 19 พ.ย.2562 ต่อมานายทะเบียนปฏิเสธไม่เพิกถอนคดีเมื่อ 9 ธ.ค.2562 แต่ทางคณะทำงานพิจารณาสั่งการให้ ร.ฟ.ท. ดำเนินการฟ้องคดีปกครองเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.2563 จึงทำให้ฟ้องคดีทางปกครองไม่ทันตามกำหนด แต่ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้อัยการแพ่ง 8 ดำเนินการฟ้องเหตุที่โฮปเวลล์จัดตั้งบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ ซึ่งคดีทางแพ่งไม่มีระยะเวลาฟ้องคดี

"คำพิพากษาศาลปกครอง ไม่มีผลต่อคดีแพ่งที่เรากำลังดำเนินการฟ้องร้องอยู่ เพราะเป็นคนละเหตุกัน เนื่องจากคดีปกครองเราฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพิกถอนทะเบียน แต่คดีแพ่ง เราฟ้องการกระทำของโฮปเวลล์โดยตรง ว่าเป็นการจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากพิจารณาเหตุผลในคดีปกครองที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการรถไฟฯ เป็นผู้เสียหายได้ ก็ยิ่งชัดเจนว่าคดีแพ่ง กระทรวงฯ และการรถไฟฯ ก็เป็นผู้เสียหาย"

 

 

 

ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2533 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว และมีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นอยู่ในความหมายเป็นคนต่างด้าว ตามข้อ 3 ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 จึงต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนนิติบุคคลต่างด้าวที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบการขนส่งทางบก

ขณะเดียวกันศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กรณีดังกล่าว รฟท.ได้มีหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร และอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงวันที่ 19 พ.ย. 2563 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือปฏิเสธ ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 ทำให้ รฟท.นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2563 ทั้งนี้คำฟ้องดังกล่าวเป็นการฟ้องในข้อหาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(2)พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งมีกำหนดว่าจะต้องนำคดีมาฟ้องภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน ที่ได้มีหนังสือร้องต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

ทั้งนี้รฟท.ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเวลาเกินกว่า 90 วันแห่งการฟ้องคดี ประกอบกับการฟ้องคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยหากเป็นประโยชน์เฉพาะ รฟท.เอง อีกทั้งไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ทำให้ต้องฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่วยคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย