วิธีต่อทะเบียนรถ จ่ายภาษีรถยนต์-จักรยานยนต์ออนไลน์ ง่ายๆทำแบบนี้

25 พ.ค. 2565 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 18:00 น.
1.3 k

วิธีจ่ายภาษี ต่อทะเบียนรถออนไลน์ ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผ่าน eservice.dlt.go.th หรือ แอป DLT Vehicle Tax แบบง่ายๆ ตรวจสอบเงื่อนไข ขั้นตอน อัตราค่าบริการ ช่องทางการจ่ายเงิน ไปจนถึงการรับใบเสร็จ ป้ายวงกลม

ปัจจุบันการจ่ายภาษีรถ หรือ ต่อทะเบียนรถ ประจำปีมีความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก หลังจากกรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาช่องทางชำระภาษีรถประจำปีในหลากหลายช่องทาง ทั้งทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th เคาน์เตอร์เซอร์วิส แอปพลิเคชัน mPAY และ Truemoney Wallet

การจ่ายภาษี ต่อทะเบียนรถออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่นับว่ามีความสะดวกอย่างมากในการชำระภาษีรถประจำปี โดยสามารถชำระล่วงหน้าได้ภายใน 90 วัน ก่อนวันที่ภาษีรถสิ้นอายุ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะชำระภาษีออนไลน์ต้องซื้อกรมธรรม์ตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ก่อน
ภาพประกอบข่าวจ่ายภาษ๊รถ ต่อทะเบียนรถออนไลน์

เงื่อนไขยื่นชำระภาษี ต่อทะเบียนรถออนไลน์

  • เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน , รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ,รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ที่จดทะเบียนทุกจังหวัด   

รถที่ต้องตรวจสภาพกับสถานตรวจสภาพ (ตรอ.)ก่อนจ่ายภาษีรถออนไลน์ 

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง)
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้)
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี
  • รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี
  • รถที่ค้างชำระภาษีเกิน 1 ปี

รถที่ไม่สามารถจ่ายภาษี ต่อทะเบียนออนไลน์ได้

  • รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (แก๊ส) ทุกชนิดเป็นเชื้อเพลิง           
  • รถที่มีสถานะทางทะเบียน หรือถูกระงับทะเบียนเนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปี ติดต่อกันครบ 3 ปี          
  •  รถที่ได้รับการยกเว้นค่าภาษีประจำปี
  •  รถที่ถูกอายัดทะเบียน

ขั้นตอนจ่ายภาษี ต่อทะเบียนรถออนไลน์

  • เข้าเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th คลิก หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
  • App Store คลิก Google play คลิก 
  •  ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน (สำหรับสมาชิกใหม่)         
  • Log-in เข้าสู่ระบ
  •  ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ที่เมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี”
  • กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถ เพื่อลงทะเบียนรถ แล้วยื่นชำระภาษี
  • กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการเอาประกัน ตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (กรณี พ.ร.บ. ที่มีความคุ้มครองมากกว่า 3 เดือน) หรือสามารถซื้อพ.ร.บ. ได้จากระบบ

ช่องทางการจ่ายภาษ๊รถ ต่อทะเบียนรถ

เลือกช่องทางการชำระเงินเพียง 1 ช่องทาง 

  1.  ชำระเงินโดยหักบัญชีเงินฝาก (ต้องมีบัญชีเงินฝากและเป็นสมาชิกใช้บริการโอนเงินผ่านระบบ อินเตอร์เน็ตกับธนาคาร/สถาบันการเงิน)
  2. ชำระเงินโดยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต (เป็นผู้ถือบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA , Master Card) โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ให้บริการรับตัดบัตร
  3. ชำระเงินโดยพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ ตู้ ATM หรือ Application ของธนาคาร/สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ

 กรณีชำระเงินยังไม่สำเร็จ/ยังไม่ได้ชำระเงิน สามารถเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”

 สามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี สถานะการจัดส่งเอกสาร หมายเลข EMS เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”           

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงิน โดยคลิกที่ ปุ่มเครื่องหมายพิมพ์ จะแสดงรายละเอียดการ ชำระเงินเป็นราย Reference

กรมการขนส่งทางบก จะจัดส่งใบเสร็จรับเงินเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และสมุดกรมธรรม์ พ.ร.บ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์ตามที่อยู่จัดส่งเอกสารที่กรอกผ่านหน้าเว็บไซต์

 เจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนรถไปปรับบันทึกรายการชำระภาษีได้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศ

อัตราค่าบริการจ่ายภาษี ต่อทะเบียนรถออนไลน์

  • ค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ รายการละ 32 บาท(ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.61 เป็นต้นไป)  
  • ค่าธรรมเนียมธนาคาร (กรณีชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ หรือหักบัญชีเงินฝาก) รายการละ 20 บาท           
  • ค่าธรรมเนียมการใช้บัตร (กรณีชำระด้วยบัตรเครดิต) 2% และ VAT 7% ของผลรวมยอดเงินทั้งหมด

ระยะเวลาการจัดส่งใบเสร็จรับเงิน(ป้ายวงกลม)

  • จัดส่งเอกสารให้กับผู้ชำระภาษีตามที่กรอกในเว็บไซต์โดยไปรษณีย์ ประมาณ 2-5 วันทำการ รวมระยะเวลาตั้งแต่ชำระเงินค่าภาษีสำเร็จถึงวันที่ได้รับเอกสารจากไปรษณีย์ ไม่เกิน 5 วันทำการ

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการ หมายเลข EMS หรือกรณีพบข้อผิดพลาด ได้ที่เว็บไซต์ ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”

ที่มา: กรมการขนส่งทางบก