วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ เตรียมควัก 2,700 ล้านปันผลผู้ถือหุ้น

15 พ.ค. 2565 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2565 | 23:44 น.
1.2 k

วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ เตรียมควัก 2,700 ล้าน จ่ายปันผลผู้ถือหุ้น หลังศาลฯ พิพากษายกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เหตุนายเกษม ณรงค์เดช ไม่มีมูลเพียงพอ เพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้นวินด์

หลังจากที่นายเกษม ณรงค์เดช ได้ร้องขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH งดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นบางส่วนจำนวน 64 ล้านหุ้นจากหุ้นทั้งหมด 108 ล้านหุ้น โดยอ้างว่าหุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นของนายเกษม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563

 

โดยตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ได้มีการอนุมัติการจ่ายเงินปันผลไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง รวม 41.9 บาทต่อหุ้น

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH

ทั้งนี้ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษายกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวด้วยเหตุว่า คำร้องของนายเกษมไม่มีมูลเพียงพอ เพราะนายเกษมไม่ใช่เจ้าของหุ้นวินด์ จากคำพิพากษาดังกล่าวมีผลให้บริษัทวินด์ฯ ต้องดำเนินการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นกว่า 2,700 ล้านบาท

 

โดยผู้ถือหุ้นที่จะได้รับเงินปันผลดังกล่าว ได้แก่ บริษัทโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด ของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา (มารดาของพอฤทัย ณรงค์เดช ภรรยานายณพ ณรงค์เดช) และกลุ่มของนายประเดช กิตติอิสริยานนท์

 

แหล่งข่าวจากบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด รายงานว่า บริษัทกำลังเตรียมการจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลได้ภายในสัปดาห์หน้านี้

ณพ ณรงค์เดช

“วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ตกเป็นข่าวครึกโครมและกลายเป็นศึกสายเลือดเมื่อ นายเกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น พร้อมด้วยนายกฤษณ์และนายกรณ์ ณรงค์เดช (บุตรชาย) ฟ้องร้องต่อคุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา นายณพ ณรงค์เดช และนายสุรัตน์ จิรจรัสพร ว่ามีการปลอมเอกสารสัญญาซื้อขายหุ้น สัญญาแต่งตั้งตัวแทน ตราสารการโอนหุ้น ใบซื้อขายหุ้น และปลอมลายมือชื่อบุคคลของนายเกษม ณรงค์เดช ทำให้หลงเชื่อว่ามีการโอนหุ้นให้แก่จำเลย  โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี 2559-2561 และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ปัจจุบันดำเนินธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานลมรวมทั้งสิ้น 8 โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 717 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.)

 

ผลการดำเนินงาน

ปี 2564 มีรายได้รวม 11,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,300 ล้านบาท

ปี 2563  มีรายได้รวม 9,900 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,200 ล้านบาท

ปี 2562 มีรายได้รวม 12,058 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,888 ล้านบาท