รู้จักการทำนาข้าวยุคใหม่ เปลี่ยนวิถีชาวนาไทยสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

15 เม.ย. 2565 | 10:27 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2565 | 17:39 น.
1.5 k

รู้จักการทำนาข้าวยุคใหม่ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ล่าสุด กรมชลประทาน ร่วมกับกรมการข้าว และกรมพัฒนาที่ดิน พัฒนาเครื่องวัดระดับน้ำในนาข้าว หวังทำนาแม่นยำลดการใช้น้ำ รองรับเกษตรกรรุ่นใหม่เปลี่ยนวิถีชาวนาดังเดิมสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ร่วมกับกรมการข้าว และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมวิจัยและพัฒนาเครื่องวัดระดับน้ำในนาข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำแก่พื้นที่เกษตรของประเทศ ลดปริมาณการสูญเสียน้ำ โดยจากการทดลองเบื้องต้นสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 30-50% เมื่อเทียบกับการทำนาน้ำขังแบบเดิม 

 

“การศึกษามุ่งเน้นศึกษาและวิจัยในแปลงนาข้าว เพราะทำนาเป็นกิจกรรมการเกษตรที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก เพราะในอดีตใช้น้ำประมาณ 1,200-1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ขณะที่สภาพอากาศที่ผันผวนเกิดความไม่แน่นอน ของสภาวะของสภาพอากาศทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้มีผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนน้ำของกรมชลประทานด้วย”

 

ดั้งนั้น กรมชลประทาน จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทำนา ช่วยเหลือชาวนา เพื่อลดปริมาณการสูญเสียน้ำในการทำนา ล่าสุดได้เริ่มวิจัยในแปลงนาของกรมการข้าวแล้ว การทำนาด้วยตัวช่วยอุปกรณ์วัดระดับน้ำในนาข้าวเพื่อเปลี่ยนการทำนาแบบดั้งเดิมเป็นการทำนาแบบแม่นยำ

 

แปลงนาที่ใช้วิจัยและพัฒนาเครื่องวัดระดับน้ำในนาข้าว

นายชวกร ริ้วตระกูลไพบูลย์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาวิศกรรมการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หลายกิจการปิดตัว การทำงานหลายอย่างนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เกิดแรงงานคืนถิ่นจำนวนมาก 

 

ดังนั้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีก 1-2 ปี ข้างหน้า หลังจากแรงงานคืนถิ่นคนยุคใหม่ เข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงกระแสความสนใจทำการเกษตรมีมากขึ้น กรมชลประทานจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการวิจัยและพัฒนาตัวช่วยให้การทำนาได้มีประสิทธิภาพขึ้น

 

“ไทยใช้น้ำทำนาในฤดูแล้ง ประมาณ 11,700 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทำนาในฤดูฝน ประมาณ 21,800 ล้าน ลบ.ม.เนื่องจากฤดูฝนจะมีพื้นที่ปลูกมากกว่าฤดูแล้งเกือบเท่าตัว หากใช้เครื่องมือวัดระดับน้ำในนาข้าว เพื่อทำนารักษาระดับความชื้นของดิน จะสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำ ประหยัดน้ำในการทำนาได้จำนวนมาก”

 

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเชิงบูรณาการของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย กรมการข้าว ดูแลภาระกิจการดูแลข้าว การจัดเก็บข้อมูลต่างๆ อาทิ การเจริญเติบโตของข้าว วัชพืช แมลงและศัตรูพืช ผลผลิตข้าวและความเครียดของข้าว

 

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดินดูแลภาระกิจการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลชุดดิน การวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นหลัก

 

การวิจัยและพัฒนาเครื่องวัดระดับน้ำในนาข้าว

ส่วนกรมชลประทาน จะรับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนานวัตกรรมการตรวจวัดและติดตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในแปลง รวมถึงติดตั้งและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ นำข้อมูลปัจจัยด้านน้ำมาวิเคราะห์ปริมาณการใช้น้ำของนาข้าวทุกรูปแบบ

 

โดยการศึกษาและวิจัย มีเป้าหมายศึกษามีการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดและเฝ้าติดตามปัจจัยด้านการจัดการน้ำในแปลงนาในทุกมิติ ได้แก่ ปัจจัยน้ำที่เติมเข้าแปลง ปัจจัยน้ำที่สูญเสียภายในแปลง อาทิ อุปกรณ์วัดระดับน้ำในนาข้าว อุปกรณ์ภาดวัดการระเหย อุปกรณ์วัดความชื้นในดิน รางวัดน้ำแบบไม่มีคอและอุปกรณ์วัดสภาพอากาศ  ทุกอุปกรณ์จะทำการตรวจวัดตามช่วงเวลาที่กำหนด

 

พร้อมจัดส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรวมถึงไลน์แอพพลิเคชั่น ทำให้การติดตามการใช้น้ำของข้าวมีความแม่นยำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้น้ำต่อไปในการขยายผล  คาดว่าอีกไม่เกิน 1 ปีครึ่ง งานวิจัยร่วมครั้งนี้จะสำเร็จและใช้งานในที่นาของชาวนาได้จริง

 

ปัจจุบันการทำนาปกติของประเทศไทย มีอยู่ 2 แบบ ดังนี้

 

นาน้ำขังตลอดเวลา (Continuous Flooding) เป็นวิธีการให้น้ำที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วยระบบชลประทานนิยมปฏิบัติกัน โดยมีการให้น้ำในนาที่ระดับแตกต่างกัน โดยหลังจากที่เริ่มหว่านข้าว จะเริ่มให้น้ำหลังจากหว่านข้าวไปแล้ว 10 วัน ให้น้ำที่ระดับ 5 เซนติเมตร จนข้าวเริ่มแตกกอจึงมีการเพิ่มความสูงของระดับน้ำให้คงที่ที่ 10 เซนติเมตร ตลอดฤดูปลูก จนก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน มีการระบายน้ำออกจากแปลง

 

นาเปียกสลับแห้ง (Alternative Wetting and Drying) เป็นการให้น้ำที่สลับดินเปียกกับดินแห้ง โดยจะเริ่มมีการให้น้ำ หลังจากหว่านข้าวแล้ว 10 วัน โดยให้น้ำที่ระดับ 5 เซนติเมตร จากนั้นรอจนระดับน้ำลงไปใต้ผิวดินประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นจึงให้น้ำระดับ 5 เซนติเมตร สลับแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะข้าวสร้างรวงอ่อน จึงมีการรักษาระดับน้ำประมาณ 10 เซนติเมตร ทำแบบนี้ตลอดฤดูปลูก จนก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน จึงมีการระบายน้ำออกจากแปลง

 

ขณะที่การทำนาแบบสุดท้าย ซึ่งเป็นแบบใหม่ที่ต้องใช้เครื่องมือวัดระดับน้ำในนาข้าว คือ นารักษาระดับความชื้นของดิน (Saturated Soil) เป็นการให้น้ำแบบไม่มีน้ำท่วมขัง โดยหลังจากที่เริ่มหว่านข้าว จะเริ่มให้น้ำหลังจากหว่านข้าวไปแล้ว 10 วัน ให้น้ำจนดินชุ่ม และจะมีการให้น้ำอีกที เมื่อดินเริ่มแห้ง โดยรักษาความชื้น แบบให้ดินอิ่มตัวเท่านั้น ทำแบบนี้ตลอดฤดูปลูก จนก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน จึงมีการระบายน้ำออกจากแปลง