“ราช กรุ๊ป” ตั้งเป้า พลังงานทดแทน 4 พัน MW ลดคาร์บอน 10 ล้านตันปี 78

15 เม.ย. 2565 | 10:06 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2565 | 17:21 น.

ราช กรุ๊ป เดินหน้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าปี 2578 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 10 ล้านตัน ปรับพอร์ตลุยลงทุนพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศปีละ 250 เมกะวัตต์ สู่เป้า 4 พันเมกะวัตต์ ในปี 2578 หรือคิดเป็นสัดส่วน 40 % จากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

 

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ 3-G (Growth, Green, Generate Strategy) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย G-1 มุ่งเน้นแสวงหาโอกาสเติบโตเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่ากิจการเพิ่มในอนาคต G-2 สนับสนุนพลังงานทดแทน และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ G-3 เน้นเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าและความเป็นเลิศขององค์กร

 

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะยกระดับการจัดการด้านความยั่งยืน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายภาคพลังงานของรัฐบาลที่มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศ ไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070

 

โดยบริษัทตั้งเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gas หรือ GHG ) ปี 2568 ไว้ที่ 6,300,000 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) คิดเป็น 70% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 และตั้งเป้าหมายปี 78 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 10,000,000 tCO2e คิดเป็น 100% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ลดลง 25% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558

 

“ราช กรุ๊ป” ตั้งเป้า พลังงานทดแทน 4 พัน MW ลดคาร์บอน 10 ล้านตันปี 78

 

 

การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว บริษัทได้วางการดำเนินงานไว้ 6 แนวทาง ได้แก่ 1.การเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนต่อเนื่องทุกปี 2.การกระจายการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ 3.การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า 3.ลดการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน 4.การปลูกป่าเพื่อสร้างแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 5.กำหนดสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิงสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

และ 6.จำกัดเพดานการลงทุนเชื้อเพลิงถ่านหิน โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวนี้จะช่วยจำกัดและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจไฟฟ้า 2.8 หมื่นล้านบาท และธุรกิจอื่น ๆ 2 พันล้านบาท

 

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มปีละ 250 เมกะวัตต์ เช่น จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล ทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายในปี 2568 จะมีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 2,500 เมกะวัตต์ หรือในสัดส่วน 25 % จากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และเพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ในปี 2578 หรือ 40% จากเป้าหมายปี 2568 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ 1 หมื่นเมกะวัตต์

 

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2578 เพิ่มเป็น 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 9,115.04 แยกเป็นพลังงานทดแทนอยู่ราว 1,345.53 คิดเป็นสัดส่วน 14.8% และพลังงานจากฟอสซิล 7,769.51 คิดเป็นสัดส่วน 85.2% ซึ่งในปี 2564 ได้ใช้เงินลงทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไปแล้วราว 2,503 ล้านบาท หรือประมาณ  20.1% ของเงินลงทุนรวม 12,459.49 ล้านบาท

 

อีกทั้ง บริษัทฯ มีแผนที่จะปลูก ฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าจำนวน 5 หมื่นไร่ ในระหว่างปี 2565-2568 เพื่อสร้างแหล่งดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะพัฒนาและขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งประมาณการคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับจากป่าไม้ประมาณ 670,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดระยะเวลาการขอรับรองคาร์บอนเครดิตเบื้องต้น 10 ปี