ครม.ทุ่ม 1.52 หมื่นล้าน ลงทุนระบบไฟฟ้าเพิ่ม 2 โครงการรับอีอีซี

12 เม.ย. 2565 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2565 | 22:19 น.

ที่ประชุมครม.อนุมัติเพิ่มวงเงินลงทุนการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจำนวน 2 โครงการ รวมวงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาท รองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติเพิ่มวงเงินลงทุนจำนวน 2 โครงการ รวมวงเงิน 15,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าของที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย 

  1. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIPE) เพิ่มวงเงินลงทุนจำนวน 9,000 ล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติไว้ 12,000 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนโครงการทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท 
  2. โครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ระยะที่ 3 (โครงการ IPP3) เพิ่มวงเงินลงทุนจำนวน 6,200 ล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติไว้ 7,250 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนโครงการทั้งสิ้น 13,450 ล้านบาท

 

ทั้งนี้การดำเนินโครงการทั้งหมด จะใช้วงเงินงบประมาณลงทุนในปี พ.ศ.2564 และปี พ.ศ.2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ 

สำหรับความจำเป็นที่ต้องปรับเพิ่มวงเงินลงทุนในครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าของทั้ง 2 โครงการ อยู่ในพื้นที่ EEC ทำให้ราคาที่ดินและทรัพย์สินที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณค่าทดแทนกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินปรับเพิ่มขึ้น 

 

จึงต้องนำราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ปี พ.ศ.2559 - 2562 ที่ยังมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2563 ในอัตรา 7.45 เท่า มาใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด ทำให้ค่าทดแทนมีราคาสูงกว่าราคาที่ประมาณการไว้ กระทรวงพลังงานจึงต้องเสนอเพิ่มวงเงินลงทุนดังกล่าว 

สำหรับรายละเอียดโครงการ มีดังนี้

 

โครงการ TIPE 

  • มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับโรงไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นและแก้ไขข้อจำกัดด้านระบบกระแสลัดวงจรในระยะยาว 
  • คาดว่าจะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าแรงสูงแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2570 
  • ปัจจุบัน มีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 5 แห่ง

 

โครงการ IPP3

  • มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ระยะที่ 3 ปริมาณ 5,000 เมกะวัตต์ เข้ากับระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 
  • ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งไฟฟ้าไปยังภาคตะวันออกและภาคกลาง 
  • คาดว่าจะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าแรงสูงแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566 
  • รองรับการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในวันที่ 31 มีนาคม 2566 
  • ปัจจุบัน กำลังดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 3 แห่ง