“กรมราง” เร่งศึกษาแก้อุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ 2.7 พันแห่ง

27 มี.ค. 2565 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2565 | 20:28 น.

“กรมราง” ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาจุดตัดทางถนน-รถไฟ หลังชาวบ้านสร้างทางลักผ่าน ลุยปิดเส้นทางแล้ว 217 แห่ง พบสถิติอุบัติเหตุรุนแรงต่อเนื่อง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 5 โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟว่า  สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 5 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง โดยได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงคือจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาจุดตัดให้สอดคล้องกับพื้นที่ 

 

 


ทั้งนี้พบว่าจังหวัดสมุทรสาคร มีทางรถไฟผ่านพื้นที่เพียงอำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอเดียว มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 75 จุด แบ่งเป็น สายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย จำนวน 35 จุด และสายบ้านแหลม – แม่กลอง จำนวน 40 จุด โดยปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 4 จุด คงเหลือ 71 จุด ประกอบด้วย จุดตัดต่างระดับ 3 จุด และจุดตัดเสมอระดับ 68 จุด ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 15 จุด มีป้ายจราจรแจ้งเตือน 1 จุด และมีทางลักผ่านมากถึง 52 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 69.33 ของจุดตัดทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 11 จุดอยู่ในสายบ้านแหลม – แม่กลอง โดยปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 2 จุด คงเหลือจุดตัดที่เป็นเสมอระดับทั้ง 9 จุด ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 8 จุด และมีทางลักผ่าน 1 จุด โดยในอนาคต จะดำเนินการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณจุดตัดหรือยกเลิกจุดตัดที่ไม่จำเป็นและนำไปรวมใช้จุดตัดที่อยู่ใกล้เคียงแทน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางรถไฟที่ผ่านมา พบว่า บ่อยครั้งมักเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น มักจะรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ดังนั้น บริเวณจุดตัดจึงถือเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องเร่งแก้ไข โดยจากที่ได้สำรวจจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศจำนวน 2,971 แห่ง ในปี 2565 พบว่า มีจุดตัดที่ถูกปิดไปแล้วประมาณ 217 แห่ง เหลือเปิดใช้งานอยู่จริงราว 2,754 แห่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปิดจุดตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 

 

“กรมราง” เร่งศึกษาแก้อุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ 2.7 พันแห่ง

“ตัวเลขจำนวนจุดตัดทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน ยังมากกว่าเมื่อตอนปี พ.ศ. 2553 ตอนนั้นมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ 2,517 แห่ง สื่อได้ว่าจำนวนจุดตัดที่เกิดขึ้นใหม่มีมากกว่าจุดตัดที่ถูกปิดไป เห็นได้ชัดว่าเราปิดจุดตัดอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้มีจุดตัดใหม่เกิดขึ้นด้วย จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่เปิดจุดตัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจุดตัดทางลักผ่าน ที่หน่วยงานหรือประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างกันเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีเครื่องกั้นถนนและไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วงเวลากลางคืนถนนจะมืดสนิท ผู้ขับขี่มองไม่เห็นรถไฟที่กำลังเข้ามาใกล้ และเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันตรวจตราทางรถไฟในพื้นที่รับผิดชอบของตน ไม่ให้เกิดจุดตัดทางลักผ่านเพิ่มมากขึ้น” 
 

ส่วนจุดตัดทางลักผ่านเดิมที่ไม่ปลอดภัยจำเป็นต้องปิด จุดตัดทางลักผ่านใดที่มีความจำเป็นต่อการสัญจร ให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเจ้าของถนนตัดผ่านทางรถไฟในพื้นที่รับผิดชอบส่งเรื่องผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาอนุญาตให้เป็นทางผ่านที่ถูกต้อง และติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่อไป 

 

“กรมราง” เร่งศึกษาแก้อุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ 2.7 พันแห่ง

 

อย่างไรก็ตามโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดในภาพรวมทั้งระบบ โดยมีขอบเขตของงานประกอบด้วย การจัดทำฐานข้อมูลจุดตัด และจัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึกบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

“กรมราง” เร่งศึกษาแก้อุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ 2.7 พันแห่ง