รัฐลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

24 มี.ค. 2565 | 17:31 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 00:40 น.

รัฐบาลมุ่งมั่น แก้ไข และหยุดยั้งปัญหาฝุ่นละออง (PM2.5) นับแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ สถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ

 

ตามที่มีการฟ้อง 3 หน่วยงานรัฐ-บอร์ด “ละเลยไม่ทำหน้าที่แก้วิกฤตมลพิษอากาศ PM2.5 ทำประชาชนเผชิญปัญหาสุขภาพ อายุขัยสั้น” นั้น ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางภายใต้รัฐบาลในการบูรณาการดำเนินงานการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขอชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนี้

 

                รัฐลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

1.รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนและให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นอกจากนี้ ในปี 2564 ได้ต่อยอดการดำเนินงานผ่านการจัดทำและขับเคลื่อนแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 และจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) พร้อมกันนี้ ในปี 2565 ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจฯ 9 ข้อ จากนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

 

ประกอบด้วย “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” โดยยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการพยากรณ์ฝุ่นละอองให้มีความแม่นยำมากขึ้น มุ่งเน้นเน้นการเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น และเพิ่มความเข้มงวดมลพิษจากแหล่งกำเนิด (คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564)

รัฐลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ แผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 จำนวน 9 ข้อ

 

โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดสถานการณ์ การดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ และการถอดบทเรียนหลังสิ้นสุดสถานการณ์เพื่อปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิ

               

การตรวจสอบตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 23 มีนาคม 2565 ตรวจแล้ว 165,308 คัน พ่นห้ามใช้ 893 คัน โดยเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 63,997 คัน พ่นห้ามใช้ 190 คัน พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำ

 

เพื่อเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษและแก้ปัญหา PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ โดยได้ออกประกาศเรื่องกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564

 

กำหนดค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมไม่เกินร้อยละ 45 และค่ากระดาษกรองไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมไม่เกิน ร้อยละ 50 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายนนี้

               

การแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยผลการดำเนินงานในปีการผลิต 2564/2565 ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบคิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน และมีเป้าหมายจะลดให้เหลือร้อยละ 0 ภายในฤดูกาลผลิต 2566/2567

               

การดำเนินโครงการ "ชิงเก็บ ลดเผา" ในปี 2564 สามารถดำเนินการเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 2,800 ตัน จากเป้าหมาย 1,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 400,000 ไร่ ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ชิงเก็บลดลงร้อยละ 60 และในปี 2565 มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน สามารถเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 1,310 ตัน จากเป้าหมาย 3,000 ตัน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย

               

การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งได้มีการประสานผ่านสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งได้มีการเสนอให้พิจารณาขยายแผนการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 (เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี) และการกำหนดตัวชี้วัดร่วม ASEAN Joint KPI เพื่อลดจุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียนร้อยละ 20 ภายในปี 2565

 

นอกจากการลดและควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศอีกด้วย

 

3. จากการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงวิกฤตปี 2565 พบว่า

 

พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 26 วัน ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 67 วัน

 

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่าในช่วงวิกฤต ปี 2565 มีจำนวน 1 วัน ลดลงร้อยละ 86 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 7 วัน

 

พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5  เกินมาตรฐาน 38 วัน ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 69 วัน ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่าในปี 2565 มีจำนวน 8 วัน ลดลงร้อยละ 60 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 20 วัน

               

4. จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า จำนวนจุดความร้อนในภาพรวมของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2565 มี 31,082 จุด ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 79,441 จุด

 

ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนจุดความร้อนในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการลดการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และหมอกควันข้ามแดน ซึ่งยังคงเป็นข้อท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

ทุกๆ มาตรการภายใต้แผนขับเคลื่อนฯ ที่เป็นวาระแห่งชาติ มติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง สามารถดำเนินการได้ทันทีในทุกระดับ และทุกหน่วยงาน อย่างไม่มีข้อจำกัดที่เป็นปัญหาอุปสรรค แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากพวกเราทุกคน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

รัฐลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ