ศาลปกครองสูงสุด สั่งรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4หมื่นล้าน

04 มี.ค. 2565 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2565 | 02:20 น.
1.8 k

ด่วน! ศาลปกครองสูงสุด สั่งรื้อ"คดีค่าโง่โฮปเวลล์" 2.4หมื่นล้าน รับคำขอคดีใหม่ไว้พิจารณาชี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปมนับระยะเวลาฟ้องคดี ทำข้อกฎหมาย ที่ใช้ในการทำคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ การยื่นพิจาณณาคดีใหม่จึงชอบด้วยกฎหมาย 

 

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสุงสุด มีมติ 40:10เสียง ให้พิจารณา "คดีค่าโง่โอปเวลล์"ใหม่ ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรก่อนนำเข้าสู่ การนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสุงสุดวันที่4 มีนาคม 2565    

 

ล่าสุด เวลา13.30น.  ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) ที่ขอให้พิจารณาคดีจ่ายค่าโง่โอปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านใหม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย  

 

ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า จากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริษัทโอปเวลล์ (ประเทศไทย ) จำกัด โดยรับทราบว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่  30 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล

เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9  มี.ค. 44เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 47 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5ปี นับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว

 

ทั้งนี้แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ซึ่งต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า

 

มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ  

 

ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษา โดยเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามแนวทางที่กำหนดโดยมติที่ประชุมใหญ่ฯ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

 

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

 

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ  จะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญา ให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดดังกล่าว หรือถ้าผู้นั้นยังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป แต่ทั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ

 

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น ไม่ได้มีผลเป็นการห้ามไม่ให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557   หมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562 นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค. 64  มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด

 

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา

 

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ. 221-223/2562 ให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม และรฟท.ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 2,850,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท กับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

แต่กระทรวงคมนาคมและรฟท. เห็นว่าประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ในเรื่องของการนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่สามารถยื่นร้องให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้ เพื่อที่อาจทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโอปเวลล์ฯ จึงได้มีการยื่นฟ้องของรื้อฟื้นคดีดังกล่าว