ลุยแก้ภัยแล้งซ้ำซาก 5 อำเภอ เมืองกาญจนบุรี

02 มี.ค. 2565 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2565 | 20:35 น.

“บิ๊กป้อม”ย้ำต้องระดมทุกหน่วยลุยแก้ภัยแล้งซ้ำซาก 5 อำเภอพื้นที่ เมืองกาญจนบุรีอย่างจริงจัง ชี้เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดฝนแล้งในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65

 

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ นับจากวันนี้เป็นต้นไปส่งผลให้ในหลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคโดยเฉพาะพื้นที่ การเกษตรและ การให้บริการระบบประปา

 

 

 

 

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยพื้นที่ 5 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี  ได้แก่ บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดฝนแล้งในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65

 

ได้มอบหมาย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะ ประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งที่ 2/2565 และลงพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี  ระหว่างวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อให้คำแนะนำ ประสานงานการปฏิบัติ และข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ให้หน่วยงานนำไปดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

หลังจากที่ผ่านมาได้ดำเนินการ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และผลสัมฤทธิ์ของโครงการพื้นที่อำเภอเลาขวัญ และห้วยกระเจา ได้แก่

ลุยแก้ภัยแล้งซ้ำซาก 5 อำเภอ เมืองกาญจนบุรี

  • โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ 500 ไร่ (งบกลางประจำปีงบประมาณ 2563) บ้านหนองแก หมู่ 5 ตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี  สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาได้มากถึง 37 ลบ.ม./ชั่วโมง ได้ปริมาณน้ำกว่า 108,040 ลบ.ม./ปี ระบบกระจายน้ำ 3 กิโลเมตร พื้นที่การเกษตร 576 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30 ราย ส่วนใหญ่การเพาะปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ผักชี หม่อน พริก และหญ้าเนเปีย เป็นต้น สร้างรายได้กว่า 5,496,000 บาท/ปี

 

 

  • โครงการศึกษาสำรวจและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 15 โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับไว้เป็นโครงการพระราชดำริ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จสามารถผลิตน้ำต้นทุนได้ปริมาณกว่า 1,051,200 ลูกบาศก์เมตร/ปี

 

ประชาชนได้รับประโยชน์ 9 หมู่บ้านจำนวน 4,989 คน หรือ 2,015 ครัวเรือน และมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 75 ราย พื้นที่การเกษตรรวม 880 ไร่ และยังขยายผลโครงการโดยการขยายแนวท่อส่งน้ำโดยเทศบาลตำบลห้วยกระเจา ระยะทางรวม 5.2 กิโลเมตร จัดทำแผนการขยายแนวท่อกระจายน้ำเชื่อมต่อไปยังตำบลวังไผ่ โดยโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาญจนบุรี และจัดทำแผนขับเคลื่อนโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่

 

แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรีโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้าเพิ่มช่องทางการผลิตบริหารจัดการและเสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร

 

ในส่วนการแก้ปัญหาพื้นที่ 5 อำเภอแห้งแล้ง ได้แก่ อำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง ได้ชี้แจงว่า   ได้มีมติอนุฯ ครั้งที่ 4/2563 (18 ธ.ค.63) รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 5 อำเภอของ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย

 

  • โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ปริมาณน้ำที่ผันทั้งหมด 256.5 ล้าน ลบ.ม./ปี (ผันและส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงทั้งหมด) แบ่งเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภครวม 2.0 ล้าน ลบ.ม./ปี และปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรกรรม 254.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 486,098 ไร่ ครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์  53,810 ครัวเรือน รายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 90,449 บาท/ปี ความก้าวหน้าของโครงการขณะอยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจงคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ และ

 

  • โครงการสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ พื้นที่รับประโยชน์ในเขตอำเภอบ่อพลอย และตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี ปริมาณน้ำที่ผันทั้งหมด 27.3 ล้าน ลบ.ม./ปี ผลประโยชน์ประมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 0.63  ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และบรรเทาความขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ 78,508 ไร่ มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 21,659 ครัวเรือน รายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 19,001.12 บาท/ปี ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโดยกรมชลประทาน

                นอกจากนี้ในพื้นที่ 5 อำเภอดังกล่าวยังมีแผนงานสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ได้แก่

 

 

1.     โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบนพร้อมระบบผันน้ำ พื้นที่รับประโยชน์รวม 42,000 ไร่ (อ.หนองปรือ เลาขวัญ และ อ.ห้วยกระเจา)

2.            โครงการขยายความจุอ่างเก็บน้ำลำอีซู พื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ (อ.บ่อพลอย)

3.            โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำอาคารประกอบคลองท่าล้อ-อู่ทอง พื้นที่รับประโยช์รวม 149,500 ไร่ ซึ่งดำเนินการพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถพัฒนาพื้นที่ไปได้แล้ว 35,000 ไร่ (อ.พนมทวน และ อ.ห้วยกระเจา)

รวมทั้งโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนแหล่งน้ำผิวดิน โดยแต่โครงการเป็นแผนงานที่เหมาะสมต่อสภาพบริบทของพื้นที่หากดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนงาน จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 5 อำเภอของ จังหวัดกาญจนบุรี ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน