"คมนาคม" จัดเต็มของบ 3.24 แสนล้าน ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์

12 ก.พ. 2565 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 18:35 น.
1.8 k

กระทรวงคมนาคมกดปุ่มของบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.24 แสนล้าน พัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์ 85 โครงการ ฟากกรมทางหลวงเปิดแผนลงทุนมอเตอร์เวย์ 2.5 แสนล้านบาท

ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3.24 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

 

ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง (Hard Side) จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมขนส่งทางบก (ขบ.) กรมท่าอากาศ ยาน (ทย.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) รวม 85 โครงการ วงเงินประมาณ 3.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 99.30% ของงบประมาณฯ

 

ปัจจุบันพบว่ามีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยจะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 35 โครงการ เช่น 1. โครงการก่อ สร้างถนนสาย ขบ.3009 สายทางหลวงหมายเลข 331-บ้านหนองคล้า อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วงเงิน 1,740 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างถนนสาย ฌ13 แผงผังระบบคมนาคมและขนส่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วงเงิน 4,028 ล้านบาท 3. โครงการทล.365 ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ วงเงิน 9,300 ล้านบาท

 

 

 

 4. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงชลบุรี-นครราชสีมา (แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ทล.359) วงเงิน 70,500 ล้านบาท 5. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงชลบุรี-ตราด (ชลบุรี-แกลง) วงเงิน 22,000 ล้านบาท 6. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทาง รถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 35,340 ล้านบาท 7. โครงการก่อสร้างทล.-ทางเลี่ยงเมืองมาบตาพุด วงเงิน 6,000 ล้านบาท 8. โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 218 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,155 ล้านบาท 9. โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์) สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 8,326 ล้านบาท ฯลฯ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะที่แผนลงทุนพัฒนาโครงข่ายทาง หลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) เบื้องต้น ทล.ได้จัดอันดับความสำคัญไว้ทั้งหมดใน 5 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยลงทุนได้ปี 2565-2570 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิด การจ้างงานได้เพิ่ม ประกอบด้วย (1. มอเตอร์เวย์วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก (M9) วงเงินลงทุน  79,060 ล้านบาท ระยะทางรวม 37 กม. โดยแบ่งเป็นช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง กำลังขออนุมัติรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน  ส่วนช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว คาดก่อสร้างระหว่างปี 2566-2568 

 

 

2. ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมสรุปผลศึกษาเพื่อเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมทุน PPP โดยมีแผนก่อสร้างปี 66-69 (3. มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 119 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท 

 

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบและขอบเขตการดำเนินโครงการตามมติของคณะกรรมการ PPP คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 66 แล้วเสร็จปี 67 (4.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 18.50 กม. วงเงินลงทุน 29,550 ล้านบาท ขณะนี้ได้ศึกษารูปแบบ   PPP และรายละเอียดเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานอีไอเอ อยู่  และ (5 . มอเตอร์เวย์หาดใหญ่- ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 62.60 กม. วงเงินลงทุน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน PPP เสร็จแล้ว และมีแผนดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 67-70
 

ทั้งนี้ทล.มีแผนพัฒนาที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์ จำนวนรวม 5 เส้นทาง โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง ซึ่งจะมีทั้งจุดพักรถ สถานที่บริการทางหลวง และศูนย์บริการทางหลวง 1. เส้นทางแรก คือ M 7-1 สายกรุงเทพฯ- บ้านฉาง โดยช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี ได้เปิดให้บริการแล้วทั้งจุดพักรถ ลาดกระบัง กม.21+700  และสถานที่บริการทางหลวงบางปะกง กม.49+300, 2. เส้นทาง M 7-2 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงชลบุรี-พัทยา เปิดให้บริการแล้วจุดพักรถหนองรี กม.72+500  

 

\"คมนาคม\" จัดเต็มของบ 3.24 แสนล้าน ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์

 

ส่วนที่ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา กม.93+750อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ปี 2567 และ 3. เส้นทาง M 7-3 สายกรุงเทพฯ -บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด จุดพักรถมาบประชัน กม.119+20 ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมบริหารเชิงพาณิชย์  ส่วนอีกจุดสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง กม.137+800 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดใช้ได้ปี 2567 และ 4. เส้นทาง M 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา อยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ปี 2566 และ 5.เส้นทาง M 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ   คาดเปิดบริการได้ในปี 2566