ส.ป.ก. คืออะไร ใครบ้าง? ที่มีสิทธิครอบครองที่ดิน อ่านรายละเอียดที่นี่

09 ก.พ. 2565 | 05:05 น.
15.4 k

ส.ป.ก. คืออะไร ใครบ้าง? ที่มีสิทธิครอบครองที่ดิน หลัง "เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล" ออกมาแฉ "ทิดสมปอง" กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก. 300 ไร่ จ.ชัยภูมิ อ่านรายละเอียดที่นี่

จากกรณีที่ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ออกมาแฉว่า นายสมปอง นครไธสง หรือ อดีตพระมหาสมปอง ครอบครอบที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 300 ไร่

 

หลังจากนั้น  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แจงข้อเท็จจริง กรณี ทิดสมปอง กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก.ในอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กว่า 300 ไร่ ดังกล่าว เพื่อปลูกยางพารา หรือให้ญาติถือครองที่ดินแทนนั้น ว่า เดิมเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ก่อนแปลงพื้นที่บางส่วน ออกมาเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ส่วน ที่ดินของทิดสมปอง พบส่วนใหญ่อยู่นอกเขตปฏิรูป มีเพียง 1 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ อยู่ในเขต ทั้งนี้ จะเดินหน้าตรวจสอบต่อเนื่อง

 

 

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้  สมปอง 300 ไร่  ออกมาให้สัมภาษณ์ ในรายการโหนกระแส ของ หนุ่ม กรรชัย กำเหนิดพลอย ตอนหนึ่งว่า “ปมที่ดิน ส.ป.ก.ถ้าผิดจริงยอมให้ยึดคืน”

แล้ว ส.ป.ก. คืออะไร?

 

ส.ป.ก. คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พันธกิจ ของ ส.ป.ก. มีดังนี้

  1. บริหารจัดการพื้นที่ ส.ป.ก.
  2. เพิ่มศักยภาพพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อการเกษตรกรรม
  3. พัฒนาอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้มีความยั่งยืน
  4. การสนับสนุนเงินทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
  5. พัฒนาองค์การให้ทันสมัย

 

ภารกิจการดำเนินงาน

ส.ป.ก.กำหนดภารกิจการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ 3 ประการ ดังนี้

 

1.งานจัดที่ดิน

เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรได้เป็นเจ้าของที่ดินภายใต้กฏหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยดำเนินการในที่ดิน 2 ประเภท ได้แก่ ที่ดินของรัฐ และที่ดินเอกชน

  • ในที่ดินของรัฐ  ส.ป.ก. จะทำการสำรวจรังวัด และสอบสวนสิทธิในที่ดิน เจรจากระจายสิทธิ ลดเนื้อที่และแบ่งแยกที่ดิน (กรณีมีที่ดินกินสิทธิตามกฎหมาย) เพื่อนำมาจัดให้เกษตรกรเช่าหรือเช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์ตามที่เกษตรกรได้ยื่นคำร้องไว้ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับสิทธิตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ได้รับหนังสือรับมอบที่ดิน (ส.ป.ก.4-28) และหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) และมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินต่อไป โดยที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ ที่จำแนกเป็นที่จัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี ที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรเลิกใช้ร่วมกัน ที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน และที่รกร้างว่างเปล่าที่อยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร

 

 

  • ในที่ดินเอกชน  ส.ป.ก.จะนำที่ดินที่จัดซื้อหรือเวนคืนมาจัดสรรแก่เกษตรกรผู้เช่า หรือผู้ไร้ที่ทำกิน หรือผู้มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งเกษตรกรจะต้องเช่า หรือเช่าซื้อจาก ส.ป.ก. และมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินต่อไป โดย ส.ป.ก.จะจัดซื้อ หรือเวนคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินเกินกว่าพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด

 

 

ส.ป.ก.

2.งานพัฒนา

 

ดำเนินงานในส่วนที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการก่อสร้างปรับปรุง ซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมและแหล่งน้ำ เพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ตามความจำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร

 

3.งานเพิ่มรายได้

 

เป็นการดำเนินงานปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและโครงสร้างทางการเกษตร จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดิน จัดหาสินเชื่อและปัจจัยการผลิต พัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรและนอกการเกษตร การให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการรักษาดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ และมติของ คปก. ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในที่ดินสาธารณะ ที่ดินชุมชน และที่ดินที่จัดให้เกษตรกร โดย ส.ป.ก.จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามสภาพของท้องที่นั้นๆ สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร

 

อำนาจหน้าที่

 

สำนักงานปฎิรูปทีดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

  1. ดำเนินการตามกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ดำเนินการจัดหาทีดินเอกชน และที่ดินของรัฐ มาดำเนินการปฎิรูปที่ดิน ตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยจัดที่ดินให้เกษตรกรทำประโยชน์ เช่า เช่าซื้อ การให้กรรมสิทธิ์และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประสานงานส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและ พัฒนาองค์ความรู้ด้านการปฎิรูปที่ดินและวิชาการด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง
  3. ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำแนกการใช้ประโยชน์พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากร ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และรักษาพื้นที่เกษตรกรรม
  4. บริหารกองทุนการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปที่ดินการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ การให้กู้ยืมเงินสำหรับการพัฒนาอาชีพ รวมตลอดถึงการใช้เงินกองทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมิให้สูญเสียสิทธิในที่ดิน รวมทั้งการจัดทำสารบบที่ดินเพื่อการปฎิรูปที่ดิน
  5. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือตามที่กระทรวง หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

'ฐานเศรษฐกิจ' ตรวจสอบข้อมูล พบรายละเอียดน่าสนใจ ซึ่งทีมทนายรณรงค์ แก้วเพชร

เคยระบุไว้ใน เพจ ทนายคู่ใจ เกี่ยวกับ สิทธิการได้ที่ดิน ส.ป.ก. ในแง่ต่างๆ ดังนี้ 

 

ใครมีสิทธิได้ที่ดิน ส.ป.ก บ้าง. ?

 

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ

 

  • เกษตรกร เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น

 

  • ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
  1. ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี
  2. จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า
  3. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

 

  • สถาบันเกษตรกร
  1. กลุ่มเกษตรกร
  2. สหกรณ์การเกษตร
  3. ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

 


หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดดังกล่าวข้างต้น สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับการจัดที่ดิน ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัด โดยให้จัดเตรียมเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานการมีที่ดิน (ถ้ามี) เพื่อให้ ส.ป.ก.จังหวัด ตรวจสอบคุณสมบัติและดำเนินการจัดหาที่ดิน และจัดที่ดิน ส.ป.ก.ต่อไป.

 

ที่มา: สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม